โคราชเตือนภัย!! 10 อำเภอ ไข้เลือดออกระบาดหนัก ป่วยแล้ว 1,164 ราย
1 มิ.ย. 2563, 11:29
นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ประธานคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของโรคไข้เลือดออกว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมถึงขณะนี้มีผู้ป่วย 1,164 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 45.82 ต่อประชากรแสนคน มีรายงานผู้เสียชีวิต 2 ราย พบผู้ป่วยเพศชายมากกว่าเพศหญิง กลุ่มอายุที่พบสูงสุดได้แก่ กลุ่มเด็กวัยเรียน อายุ 10-16 ปี( 276ราย) รองลงมา อายุ 5-9 ปี(215ราย) , กลุ่มอายุ 15-19 ปี(215ราย) , อายุ 20-24 ปี(106ราย) เป็นต้น โดย จ.นครราชสีมามีการระบาดของโรคฯอยู่ในลำดับ 6 ของประเทศ อีกทั้งพบว่าทั้ง 32 อำเภอที่พบอัตราป่วยสูงสุด ประกอบด้วย อ.โนนไทย , อ.เฉลิมพระเกียรติ , อ.โชคชัย , อ.สูงเนิน , อ.โนนสูง , อ.ประทาย , อ.พิมาย , อ.ขามทะเลสอ , อ.เมือง และ อ.จักราช
นายวิเชียร กล่าวต่อว่า ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดและป่วยจากโรคไข้เลือดออกขอให้ทุกพื้นที่เร่งสร้างความร่วมมืออย่างเข้มข้นในการรณรงค์ให้ประชาชนร่วมมือกับผู้นำชุมชน หมู่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ อสม. เพื่อชาวโคราชรวมพลังตั้งการ์ดสู้ภัยไข้เลือดออก ควบคู่ไปพร้อมๆกับโควิด-19 โดยรณรงค์สื่อสารลดความเสี่ยงโรคไข้เลือดออกรณรงค์ 3 เก็บอย่างต่อเนื่องเข้มข้นเข้มแข็ง “ เก็บบ้าน เก็บน้ำ เก็บขยะ “ และปฏิบัติตาม 5 ป. 2 ข. ได้แก่ ป.ปิดภาชนะน้ำกินน้ำใช้ให้มิดชิดหลังการตักน้ำใช้ทุกครั้ง เพื่อป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ , ป.เปลี่ยนน้ำในแจกัน ถังเก็บน้ำทุก 7 วัน เพื่อตัดวงจรลูกน้ำยุงลายที่จะกลายเป็นยุง , ป.ปล่อยน้ำปลากินลูกน้ำในภาชนะใส่น้ำถาวร เช่น อ่างบัว ถังซีเมนต์เก็บน้ำขนาดใหญ่ , ป.ปรังปรุงสิ่งแวดล้อมให้ปลอดโปร่ง โล่ง สะอาด ลมพัดผ่าน ไม่เป็นที่เกาะพักของยุงลาย
รวมทั้ง ป.ปฎิบัติเป็นประจำทุกๆสัปดาห์จนเป็นนิสัย สำหรับ 2 ข. ได้แก่ ข.ขัดไข่ยุงที่ขอบด้านในของภาชนะเก็บกักน้ำ และ ข.ขยะกำจัดให้เกลี้ยงไม่เลี้ยงยุงลาย ทั้งที่บ้าน วัด โรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก ที่ทำงาน ศาสนาสถาน อีกทั้งป้องกันยุงลายกัดในช่วงกลางวันโดยการนอนกางมุ้งหรือทายากันยุง รวมทั้งใช้นวัตกรรมใหม่ๆในการป้องกันควบคุมโรคเพื่อให้โคราชปลอดภัยจากโรคไข้เลือดออกต่อไป ทั้งนี้โรคไข้เลือดออกป้องกันได้ แต่มีอันตรายรุนแรงถึงเสียชีวิต ซึ่งโรคนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเด็งกีที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค หากมีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส ประมาณ 2-7 วัน ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หน้าแดง ขอให้รีบไปพบแพทย์ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านโดยด่วน เพื่อป้องกันการเสียชีวิต .