สาวโพสต์สุดเศร้า พ่อเสียชีวิตอย่างกะทันหัน เหตุรอคิวเข้าตรวจนาน
9 ก.ค. 2562, 17:02
วันนี้ 9 ก.ค.62 กลายเป็นเรื่องราวที่โซเชียลต่างเเห่เเชร์ พร้อมทั้งเห็นใจเป็นอย่างมากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Jiratchaya Rangsaritwirachot ได้โพสต์ภาพและข้อความหลังจากที่ตนพาพ่อเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาล แต่รอคิวนานกว่า 30 นาที จนคุณพ่ออาการหนัก ก็ยังไม่ได้รับการตรวจ ซ้ำยังถูกคนไข้ที่มาทีหลังแซงคิว จนสุดท้ายคุณจากไปอย่างกะทันหัน โดยโพสต์ดังกล่าว ระบุข้อความว่า
พ่อจากไปแล้ว เพราะนั่งคอยตรวจนาน ตรวจแล้วไม่ให้เข้าห้องอีก อุตส่าห์ให้แม่วิ่งไปยื่นบัตร จะได้ตรวจไวขึ้น แต่ที่ไหนได้ เจ้าหน้าที่จุดคัดกรอง บอกว่า พ่อไม่หนัก ความดันปกติ ... แต่คุณไม่ได้จับชีพจร คุณไม่ใช่พยาบาล คุณไม่ใช่หมอ คุณมีสิทธิ์บอกว่า พ่อเข้าไม่ได้ได้ไง ให้คนอื่นเข้าก่อนได้ไง คนไข้นั่งรถเข็น ไม่ได้รับการตรวจรักษา ...นั่งรอ 3 คิว ถูกแซงไปอีก 1 คิว นั่งรอจนความดันลดลง ความดันต่ำลง 38 คนเดินได้ ได้ตรวจก่อน แต่คนนั่งรถเข็น นั่งรอไป ... แล้วคนนั่งรถเข็นก็ถูก แซงคิว เข็นพ่อไปข้างหลัง แล้วตรวจคนอื่น แล้วให้เข้าไป แต่พ่อไม่ได้เข้า ..
เดินไปจับตัวพ่อ เห็นพ่อนั่งปิดตา พ่อหลับ ตกใจมาก พ่อตัวเย็น เย็นมาก เหงื่อแตก เสื้อเปียกหมด พ่อไม่ตอบ เรียกก็ไม่ตอบ ก็ถามเจ้าหน้าที่ พ่อจะได้พบหมอตอนไหน มันตอบว่า วัดความดันก่อน มันวัดอีก ต่ำมาก 38 มันเข็นพ่อเข้าไป สุดทาง เตียงสุดท้าย โชคดี ที่ลูกโวยวายว่า จะทำไรก็รีบๆทำ พ่อไม่ไหวแล้ว ตัวเย็นมาก พยาบาลคนนึวก็เดินมาเข็นพ่อออกมาเตียงหน้าๆ ให้พ่อขึ้นนอน พ่อลุกไม่ได้แล้ว ต้องช่วยกันหาม พ่อขึ้นเตียง แต่ต้องรออีก นอนรอหมอมาตรวจ กว่าจะได้ตรวจ
พยาบาลก็เอาไรมาแปะเต็มหน้าอกพ่อ เศร้ามาก ป๋านั่งคอยนาน กว่าจะได้เข้าห้อง เข้าแล้ว กว่าจะได้ตรวจ กว่าจะถือมือหมอ ต้องให้ลูกด่า อานวาด มันตรวจความดันอีกรอบ โชว์ความต่ำ ... พ่อความดันต่ำลง ต่ำลง พ่อได้ตรวจ แต่ไม่ทันแล้ว พ่อเหนื่อย พ่อต้องรอนาน ในห้องฉุกเฉิน ที่ลูกถูกไล่ออกไป แล้วพ่อเข้า ไอซียู ลูกก้เข้าไปไม่ได พ่อเหนื่อย พ่อหายใจไม่ปกติ หัวใจเต้นผิดปกติ หายใจเหนื่อย พ่อตายแล้ว ปั้มหัวใจ 40 นาที ไม่ตื่น พ่อเสียแล้ว
จากกรณีดังกล่าวทราบชื่อเจ้าของเฟสบุ๊คและเป็นผู้โพสต์ ชื่อ น.ส.จิรัชญา รังสฤษฏิ์วีระโชติ อายุ 41 ปี ซึ่งเป็นลูกสาวของนายกมลชัย รังสฤษฏิ์วีระโชติ อายุ 72 ปี ผู้เสียชีวิต ซึ่งขณะนี้ศพตั้งอยู่ที่สามาคมปาดไกว ผู้สื่อข่าวจึงเดินทางไปพบและสอบถามถึงรายละเอียดต่างๆ
น.ส.จิรัชญา รังสฤษฏิ์วีระโชติ เล่าว่า วันเกิดเหตุคือวันอาทิตย์ ที่ 7 ก.ค. ช่วงบ่าย ตนได้พาพ่อไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเบตง เนื่องจากพ่อเป็นโรคชิคุนกุนยา เจ็บข้อเดินไม่ได้ แต่พอวันที่ 2 ก็สามารถลุกขึ้นได้เพราะได้ต้มยาหม้อให้ทาน แต่พอวันที่ 3 ก็เกิดอาการเพลีย ตนจึงพาไปโรงพยาบาล พอถึงจุดคัดกรองก็รอคิว หลังจากวัดความดันเรียบร้อยแล้ว ก็นั่งคอย จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ตรวจคนที่มารอคิวต่อไป และนำเข้าไปในห้องฉุกเฉินก็เลยถามเจ้าหน้าที่ว่าทำไมพ่อถึงไม่ได้เข้า จะได้เข้าเมื่อไหร่
ตอนถามเจ้าหน้าที่ก็จับหน้าพ่อรู้สึกว่าพ่อตัวเย็น เสื้อเปียก แต่พ่อไม่พูดอะไรนั่งหลับ ตนจึงเข็นพ่อไปที่เจ้าหน้าที่ จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็วัดความดันอีกครั้ง ก็พบว่าความดันต่ำจึงได้นำเข้าห้องฉุกเฉินไป และได้เสียชีวิตช่วงเวลา 17 นาฬิกา ทำให้ตนมีความรู้สึกว่าเจ้าหน้าที่บริการล่าช้า จึงทำให้พ่อเสียชีวิต จึงได้นำรูปพร้อมเขียนข้อความในเฟส ส่วนสาเหตุที่ลงเฟสเพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้มีการปรับปรุงแก้ไข
ด้าน นพ ยุทธนา รุ่งธีรานนท์ นายแพทย์ชำนาญการ อายุรแพทย์โรงพยาบาลเบตง ซึ่งเป็นแพทย์เจ้าของคนไข้ ได้ให้ข้อมูลว่า หลังจากได้รับตัวคนไข้จากห้องฉุกเฉินมาอยู่ในห้องไอซียู ประเมินอาการโดยรวม คนไข้อาการยังไม่คงที่ มีอาการมีหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นเร็ว ประมาณ 130 ครั้ง ต่อนาที ความดันต่ำ ทางแพทย์ก็รีบช่วยดูแลรักษาอย่างเต็มที่ ส่วนสาเหตุที่คนไข้เสียชีวิตเนื่องจาก มีภาวะช็อกจากการติดเชื้อทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ ประกอบกับคนไข้มีความดันลดลง
ส่วนทางด้าน แพทย์หญิงปัทมพันธ์ อนันตาพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเบตง จ.ยะลา ได้ออกมาชี้แจงให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากมีข่าว ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการเรียกประชุมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ ที่อยู่ในเหตุการณ์ พร้อมทั้งตรวจสอบเอกสารต่างๆ กล้องวงจรปิด เกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อหาสาเหตุ แต่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เจ้าหน้าที่คัดกรอง ซึ่งเป็นพนักงานเวชกิจฉุกเฉินได้ตรวจอาจการผู้ป่วยก่อนเพื่อแบ่งระดับความหนักเบาของผู้ป่วย หากผู้ป่วยที่มีอาการหนักก็จะนำเข้าห้องฉุกเฉินเพื่อให้แพทย์ทำการรักษาอย่างเร่งด่วน
ในกรณีที่เกิดขึ้นเจ้าหน้าที่จุดคัดกรองได้ตรวจวัดความดันของผู้ป่วยที่เสียชีวิตเรียบร้อยแล้ว ซึ่งความดันขณะนั้นอยู่ที่ 144/ 80 ซึ่งถือว่าปกติ จึงจัดเป็นผู้ป่วยในโซนสีเขียว คือเจ็บป่วยเล็กน้อย จึงได้ให้นั่งคอยตามคิว ส่วนที่ว่ามีการแซงคิว เนื่องจากมีผู้ป่วยอีกคนที่มาทีหลัง แต่ตรวจวัดความดันพบว่าความดันต่ำ อยู่ที่ 75/38 ซึ่งถือว่ามีอาการหนักกว่า เป็นผู้ป่วยในโซนสีชมพู คือ เจ็บป่วยรุนแรง เจ้าหน้าที่จึงได้นำตัวเข้าห้องฉุกเฉินก่อน ส่วนที่มีภาพถ่ายว่าผู้ป่วยที่เสียชีวิตมีความดันระดับต่ำ อยู่ที่ 75/38 ก็ได้ตรวจสอบแล้ว
พบว่าเป็น ค่าการวัดความดันของผู้ป่วยที่เจ้าหน้าที่ได้นำเข้าห้องฉุกเฉินไปก่อนหน้านั้นซึ่งเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้กดรีเซตเครื่อง ส่วนที่ว่าบริเวณจุดคัดกรองไม่ใช่พยาบาลนั้น สำหรับเหตุการณ์นี้ เนื่องจากภายในห้องฉุกเฉินก็มีผู้ป่วยอาการหนักอยู่ วันเกิดเหตุ พนักงานเวชกิจฉุกเฉินโรงพยาบาลเบตง ซึ่งมีหน้าที่ให้การช่วยเหลือคนไข้หรือผู้ที่ได้รับการบาดเจ็บ เช่น การให้น้ำเกลือ การใช้ท่อช่วยหายใจ การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย การดูแลคนไข้บนรถพยาบาลฉุกเฉินจนถึงโรงพยาบาล เป็นต้น
ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่เรียนจบทางด้านเวชกิจฉุกเฉินจะประจำอยู่ที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล และในบางครั้งออกมาช่วยเหลือผู้ป่วยอาการหนักหรือผู้ที่ประสบอุบัติเหตุด้วยนอกโรงพยาบาลด้วย จึงได้มาช่วยที่บริเวณจุดคัดกรอง จึงทำให้ญาติคนไข้อาจไม่เข้าใจ ว่าไม่ใช่เจ้าหน้าที่