ขอความร่วมมือคนไทย ขึ้นรถเมล์ ต้องสแกนคิวอาร์โค้ด ไทยชนะ ทุกครั้ง
11 มิ.ย. 2563, 19:50
นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 11 มิ.ย.นี้ ขอความร่วมมือผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ (รถเมล์) ช่วยสแกนคิวอาร์โค้ด (QR Code) แอพพลิเคชั่นไทยชนะ เพื่อเช็กอินเมื่อขึ้นใช้บริการ และเช็กเอาท์ก่อนลงจากรถเมล์ทุกครั้ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ขสมก. ได้นำคิวอาร์โค้ดดังกล่าวทยอยติดตั้งภายในรถเมล์ให้ครบทุกคัน บริเวณด้านหน้า ช่วงกลางรถ ช่วงหลังรถและหลังเบาะที่นั่ง
นอกจากนี้ ขสมก. ดำเนินการส่วนของสำนักงานใหญ่ และสำนักงานเขตการเดินรถ ได้นำคิวอาร์โค้ดแอพฯ ไทยชนะ มาติดตั้ง พร้อมกำชับให้พนักงานและบุคคลภายนอก ทำการสแกนคิวอาร์โค้ดเช็กอินเมื่อเข้าพื้นที่ และเช็กเอาท์ก่อนออกจากพื้นที่ทุกครั้ง โดยเริ่มปฏิบัติตั้งแต่กลางเดือน พ.ค.63 เพื่อความปลอดภัย ลดความเสี่ยงของพนักงานและประชาชน ในการติดเชื้อโรคโควิด-19
นายสุระชัย กล่าวต่อว่า การดำเนินการดังกล่าวเพื่อสนองนโยบายศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ที่ต้องการติดตามผลและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
ที่ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการนำคิวอาร์โค้ดแอพฯ ไทยชนะมาติดตั้ง ณ สถานที่ทำการ รวมถึงบนรถเมล์เพื่อเก็บบันทึกประวัติการเดินทาง และเพิ่มความรวดเร็วในการสืบสวนโรคของแพทย์ กรณีที่มีผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19
ต่อมามีผู้โดยสารจำนวนมาก ต่างพากันไม่เห็นด้วยผ่านทางเพจข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์จำนวนมาก ว่าผู้บริหารคิดได้อย่างไร ไม่เคยลงมาดูปัญหา รับรู้ปัญหาที่แท้จริง ไม่เคยนั่งรถเมล์ กลับสร้างปัญหาและความลำบากยุ่งยากให้ผู้โดยสาร กรณีไม่มีโทรศัพท์มือถือ หรือถ้ามีก็เป็นรุ่นธรรมดาไม่ใช่สมาร์ทโฟนไม่มีอินเทอร์เน็ต คงขึ้นรถเมล์ไม่ได้
นอกจากนี้ยังวิพากษ์วิจารณ์สภาพรถเมล์ร้อนที่ติดแผ่นคิวอาร์โค้ดแล้ว คิวอาร์โค้ดละลาย รวมทั้งสภาพเก่าทรุดโทรม ควรปรับปรุงสภาพรถเมล์ให้ดีขึ้น พร้อมพัฒนาไฮเทคโนโลยี่มาใช้ รวมทั้งหากต้องเสียเวลาสแกนคิวอาร์โคดช่วงขึ้นลงรถทำให้ไม่สะดวกและเสี่ยงต่อความปลอดภัยในการขึ้นลงรถหรือโหนรถเมล์
ล่าสุดนายประยูร ช่วยแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์การ ขสมก. ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า กรณีผู้โดยสารไม่มีมือถือหรือไม่มีอินเตอร์เน็ตถือว่ามีความเป็นไปได้น้อยมากไม่ถึง 2% ของผู้โดยสารที่ใช้บริการรถเมล์
อย่างไรก็ตามหากผู้โดยสารไม่มีมือถือหรือไม่มีอินเทอร์เน็ตสามารถใช้บริการได้ตามปกติ โดยไม่ต้องสแกนคิวอาร์โค้ดแต่ขอความร่วมปฏิบัติตามความปลอดภัยอื่นๆ แทน เช่น การสวมหน้ากากอนามัย ยืนเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์
นายประยูร กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ขสมก. จะไม่นำมาตรการให้ผู้โดยสารที่ไม่มีมือถือหรืออินเทอร์เน็ตลงชื่อก่อนขึ้นลงใช้บริการรถเมล์เหมือนกับการใช้บริการห้างสรรพสินค้าแน่นอน เพราะในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยากและค่อนข้างไม่สะดวก หากนำมาใช้กับรถเมล์ทำให้ลำบากมากขึ้น เพราะผู้โดยสารบางคนใช้บริการไม่กี่ป้ายลงแล้ว
อย่างไรก็ตามอยากให้เข้าใจว่ามาตรการดังกล่าวนำมาใช้เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารที่เดินทาง ซึ่งยอมรับว่าผู้โดยสารอาจจะไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทางด้วยรถเมล์เหมือนแต่ก่อน แต่ในสภาวะที่เกิดโรคระบาดไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ดังนั้นผู้โดยสารต้องปรับเปลี่ยนวิถีแบบใหม่ (New Normal) ในการใช้รถเมล์ใหม่ เพื่อความอยู่รอดในสังคมร่วมกัน
ที่มา ข่าวนวัตกรรมขนส่ง เดลินิวส์