หมอยง แนะตรวจเข้มชาวประมงหาปลาไกลถึงต่างประเทศ พรมแดนธรรมชาติทางทะเลไม่ควรมองข้าม
15 มิ.ย. 2563, 13:34
ศาสตราจารย์นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan แนะให้ตรวจเข้มชาวประมง เนื่องจากมีชาวประมงจำนวนมากที่เดินทางไปหาปลาไกลถึงอินเดีย และอินโดนีเซีย แม้ตอนนี้สามารถควบคุมการเดินทาง ทางอากาศได้ดี แต่ก็ไม่ควรมองข้ามพรมแดนทางธรรมชาติอื่น ๆ ทั้งทางบก และทางทะเล เพราะถ้าระบาดในรอบ 2 จะควบคุมยากกว่ารอบแรก
โดย หมอยง ได้โพสต์ข้อความระบุว่า โควิด-19 เป็นได้ทั้งไม่มีอาการ มีอาการน้อย จนถึงอาการมากปอดบวม จากการศึกษาที่ผ่านมาผู้ป่วยติดเชื้อแบบไม่มีอาการ พบได้ตั้งแต่ 5 ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ถึงแม้ว่าในผู้ที่ไม่มีอาการ โอกาสจะแพร่เชื้อได้น้อยกว่าผู้ที่มีอาการ หรืออาจกล่าวได้ว่าผู้ที่ไม่มีอาการน่าจะมีไวรัสในบริเวณลำคอน้อยกว่าผู้ที่มีอาการ แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะแพร่เชื้อได้
ผู้ที่ไม่มีอาการจะพบว่ามีอายุน้อยกว่าผู้ที่มีอาการ ในการควบคุมการระบาดของโรค เราให้ความสำคัญกับผู้ที่ไม่มีอาการด้วย จึงมีการตรวจเชิงรุก สุ่มในประชากรที่เป็นกลุ่มก้อน หรือในแหล่งระบาดโรค ในประเทศจีนที่กรุงปักกิ่ง ถึงแม้จะไม่พบโรคมาแล้วถึง 50 วัน มีผู้ป่วยเกิดขึ้น และมีอาการ และแพร่กระจายออกไป เมื่อมีการตรวจเชิงรุกในผู้สัมผัส กลับพบว่ามีผู้ติดเชื้อมากกว่า 50 คน ในการติดเชื้อจำนวนมากนี้ ทำให้ต้องวางมาตรการเข้มข้นขึ้น และส่วนเชิงลึกในประชากรที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อควบคุมโรคให้ได้อย่างรวดเร็ว ก่อนที่จะแพร่กระจายไปกว้างขวางกว่านี้
สำหรับประเทศไทย มีแรงงานต่างด้าวที่อยู่เป็นกลุ่มก้อน และยังมีแรงงานที่รอกลับสู่ประเทศไทย รวมทั้งชาวประมง ที่ไปหาปลาไกลถึงอินเดีย และอินโดนีเซีย มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนปลา เรามีพรมแดนธรรมชาติอีกจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นทางบก และทางทะเล เราสามารถควบคุมทางอากาศได้ดี ทุกคนในประเทศ จะต้องช่วยกัน ปกป้องตัวเอง และปกป้องบุคคลที่อยู่ใกล้เคียงเรา
ในฤดูฝน ความชื้น และอุณหภูมิที่ลดลง จะทำให้เชื้อโควิด-19 อยู่ได้นานขึ้น การแพร่กระจายก็จะได้ง่ายขึ้นกว่าฤดูร้อนเดือนเมษายน และพฤษภาคมแน่นอน ถ้าระบาดในรอบ 2 เราจะควบคุมยากกว่ารอบแรก โอกาสที่จะไปใช้มาตรการแบบครั้งแรก จะยากขึ้นเพราะทุกคนเดือดร้อน