มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ ยื่นร้องผู้ตรวจฯส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เหตุปิดกั้นสิทธิ-จดทะเบียนสมรส
17 มิ.ย. 2563, 18:01
เมื่อเวลา 10.45 น. วันที่ 17 มิ.ย. 63 กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ จำนวน 12 คน นำโดยนายพงศ์ธร จันทร์เลื่อน รองประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรรมทางเพศ เดินทางมาที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ เพื่อยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่ เนื่องจากทำให้คู่รักของกลุ่มหลากหลายทางเพศ ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้ และได้รับผลกระทบเสียสิทธิในการรับสวัสดิการต่างๆ อาทิ สิทธิ์เบิกจ่ายตรง กรมบัญชีกลาง ของข้าราชการให้กับคู่ชีวิต
โดยนายพงศ์ธร ตัวแทนกลุ่มฯ กล่าวว่า อยากให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ตรวจสอบกฎหมาย เกี่ยวกับร่าง พรบ. คู่ชีวิต ของ กระทรวง ยธ. เพื่อแก้ไข เปลี่ยนจากคู่สมรสระหว่างหญิง-ชาย เป็นคู่สมรสของบุคคล เพราะกฎหมายนั้นยังไม่ครอบคลุม ในการได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกัน กับกฎหมายครอบครัวทั่วไป การที่มีกฎหมาย พรบ.คู่ชีวิต จะต้องเอื้อประโยชน์ให้กับคู่ชีวิตทั้งหมด ที่เท่าเทียมไม่แบ่งแยก เพศที่สาม เช่น ชายรักชาย หญิงรักหญิง ซึ่งกลุ่มตนมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ คัดแยกคู่รักร่วมเพศ ออกจากสังคม เป็นชนชั้น 3
ส่วนผลกระทบต่อคู่ชีวิต ที่หยิบยกมาร้องในวันนี้ คือคู่ หญิง-หญิง และ ชาย-ชาย ที่ไปยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรส เมื่อ 14 กพ.63 ที่ สนง.เขต บางกอกน้อย แต่ถูกปฏิเสธฯ สนง.เขตอ้างว่าไม่เป็นไปตามเงื่อนไข การสมรส จึงทำให้กระทบต่อการดำเนินชีวิต ไม่สามารถ เซ็นนิติกรรม และมีการใช้สิทธิตามสวัสดิการของคู่ชีวิตได้ อีกทั้งรวมไปถึงอาจใช้เทคโนโลยีเจริญพันธุ์ ให้มีครอบครัวที่สมบูรณ์ ไม่สามารถกระทำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิทธิความเสมอภาคเท่าเทียมกันตาม รธน. ที่ทุกคนพึงมี จากนี้ กลุ่มฯ จะใช้ทุกช่องทางให้มีการเคลื่อนไหวแก้ไข กฏหมายฉบับ โดยกลุ่มฯ เตรียมจะไปยื่นฟ้องที่ศาลครอบครัวเยาวชนกลาง ต่อไป
ด้านนายปิยะ ระบุว่าทาง ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีหน้าที่ รับเรื่องร้องเรียนทุกประเด็น ส่วนตนเข้าใจ เรื่องสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียม โดยจะรับเรื่องส่งเรื่องให้ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณา ส่งไปยัง ศาล รธน. ซึ่งก็เป็นอำนาจของศาล รธน. วินิจฉัย ต่อไป