"อบต.นาพันสาม" เชิญร่วมงานบุญตักบาตรพระบนหลังเกวียน
11 ก.ค. 2562, 09:24
ผู้สื่อข่าว onb news รายงานว่า อบต.นาพันสาม เชิญร่วมงานบุญตักบาตรพระบนหลังเกวียน นายประสิทธิ์ รวมสิน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาพันสาม กล่าวว่า ปีนี้ทางองค์การบริหารส่วนตำบลนาพันสาม ได้เตรียมจัดงานบุญใหญ่เข้าพรรษาตักบาตรพระบนหลังเกวียนอีกเช่นเดิม เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชนและอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามที่สืบทอดกันมาช้านาน โดยกำหนดจัดงานขึ้นระหว่างวันที่ 16 – 17 กรกฎาคม 2562 เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้า เจ้าอยู่หัว ณ วัดนาพรม ต.นาพันสาม อ.เมือง จ.เพชรบุรี โดยวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 มีการแห่เทียนพรรษาด้วยวัวเทียมเกวียน จำนวน 30 เล่ม ประชาชนจะนำข้าวสารอาหารแห้งมาร่วมทำบุญตักบาตรพระบนหลังเกวียน จำนวน 30 รูป ที่ วัดนาพรม ในช่วงเวลาประมาณ 09.30 น. โดยขบวนเกวียนแห่เทียนพรรษาจะเริ่มเคลื่อนขบวนมาตั้งแต่จุดบริเวณทางแยกเข้าตำบลสำมะโรงเชื่อมต่อพื้นที่หมู่บ้านนาพันสาม โดยขบวนแห่จะประดับประดาสวยงามมาก มีนางเทียนจำนวน 30 คน นั่งบนหลังเกวียน ขบวนจะเป็นไปอย่างคึกคักสวยงาม จะเริ่มเคลื่อนขบวนตั้งแต่เวลา 08.00 น.ถึงวัดนาพรม เวลาประมาณ 09.30 น. จากนั้นจะนิมนต์พระจำนวน 30 รูป ขึ้นบนหลังเกวียน เพื่อให้ชาวบ้านได้นำข้าวสารอาหารแห้งที่เตรียมมาใส่บาตรพระกัน โดยจะเริ่มตักบาตรตั้งแต่บริเวณหน้าโบสถ์หลังใหม่ของวัดนาพรม ส่วนในวันที่ 17 กรกฎาคม 2562 ขอเชิญทุกท่านเข้าวัดทำบุญ ถวายสังฆทาน กราบเศียรพระศักดิ์สิทธิ์ ภายในวัดนาพรม เพื่อเสริมสร้างความเป็นสิริมงคล ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป จึงขอเชิญชวนผู้ที่สนใจร่วมงานบุญใหญ่ในครั้งนี้ด้วยกันตามวันและเวลาดังกล่าว ดร.วรวิสูตร ฉิมพาลี ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลนาพันสาม กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเพณีตักบาตรพระบนหลังเกวียน เป็นประเพณีเก่าแก่ที่ชาวตำบลนาพันสามได้เคยทำมาหลายร้อยปี ถือว่าเป็นประเพณีที่ศักดิ์สิทธิ์ ใครได้มาร่วมพิธีตักบาตรพระบนหลังเกวียนจะได้บุญใหญ่และเพื่อการจะได้ไปสู่สรวงสวรรค์ ผู้เฒ่าผู้แก่ในตำบลนาพันสาม เล่าว่า ในอดีตการคมนาคมไม่สะดวกเหมือนปัจจุบัน ในฤดูฝนชาวบ้านจะพายเรือไปมาหาสู่กัน ในฤดูแล้งก็จะใช้เกวียน ไปมาหาสู่กัน รวมทั้ง เป็นพาหนะของพระในการบิณฑบาตในอดีต องค์การบริหารส่วนตำบลนาพันสาม เล็งเห็นคุณค่าของประเพณีตักบาตรพระบนหลังเกวียน จึงได้ฟื้นฟูขึ้นก่อนที่จะเลือนหายไป