อย. เตือนอย่าหลงเชื่อ คนหลอกขาย "น้ำยาหยอดตานาโน"
22 มิ.ย. 2563, 15:46
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ออกเตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อเว็บตัดต่อภาพประธานวิชาการราชวิทยาลัยจักษุแพทย์เพื่อการโฆษณาหลอกขายน้ำยาหยอดตานาโน ตรวจสอบไม่พบข้อมูลการขออนุญาตผลิตภัณฑ์ ล่าสุด ได้ประสานกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระงับโฆษณาและดำเนินการตามกฎหมายแล้ว
โดย ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับเรื่องร้องเรียนแจ้งว่าพบการตัดต่อคลิปวิดีโอของ ศาสตราจารย์ นพ.ศักดิ์ชัย วงศ์กิตติรักษ์ ประธานวิชาการราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ลงในเว็บไซต์ https://rine.xvsgwq.com/ollajxvf จากการตรวจสอบเว็บไซต์ดังกล่าว พบมีการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณน้ำยาหยอดตานาโนว่าสามารถฟื้นฟูสายตาให้เป็นปกติโดยไม่ต้องผ่าตัด โดยมีการตัดต่อภาพ นพ.ศักดิ์ชัย จากรายการ “ชัวร์ก่อนแชร์” สำนักข่าวไทย มาเผยแพร่ในเว็บไซต์เพื่อการโฆษณาให้มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งการโฆษณาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง และขณะนี้ยังไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ดังกล่าว แต่อย่างใด
อย. จึงได้ประสานกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระงับการโฆษณาและดำเนินการตามกฎหมายแล้ว ทั้งนี้ นพ.ศักดิ์ชัย เคยให้ข้อมูลผ่านรายการ “ชัวร์ก่อนแชร์” ที่ออกอากาศเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2562 หลังสังคมออนไลน์มีการแชร์แนะนำยาหยอดตานาโนสามารถแก้ปัญหาสายตาสั้นยาวได้ ซึ่งระบุว่า ขณะนี้มีการทดลองน้ำยาชนิดหนึ่งซึ่งอยู่ในขั้นตอนของการทดลองในระยะเริ่มแรก โดยยังไม่ได้มีการทดลองในมนุษย์ ดังนั้น อย. จึงขอเตือนอย่าหลงเชื่อการขายผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยอ้างบุคลากรทางการแพทย์ให้ดูน่าเชื่อถือ เพราะดวงตาเป็นอวัยวะที่บอบบางและมีการติดเชื้อได้ง่าย ถ้านำสิ่งที่ไม่ใช่ยาหรือไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นยามาใช้กับดวงตาอาจเกิดการติดเชื้อหรือรุนแรงถึงขั้นตาบอดได้ ผู้มีปัญหาควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
รองเลขาธิการ ฯ กล่าวในตอนท้ายว่า น้ำยาหยอดตาจัดเป็นยาซึ่งต้องระบุเลขทะเบียนตำรับยาบนฉลาก ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้ผ่าน 4 ช่องทาง คือ Line และ Facebook FDA Thai, Oryor Smart Application เว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th และ www.oryor.com โดยต้องตรวจสอบชื่อผลิตภัณฑ์และเลขที่อนุญาตให้ ทั้งนี้ หากพบผลิตภัณฑ์ยาที่ไม่มีเลขทะเบียนตำรับ สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน 1556 สำหรับผู้ที่ผลิต ขาย หรือนำสั่งยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และการโฆษณาทางสื่อต่าง ๆ โดยไม่ได้รับอนุญาต จะมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท