กทม.ไล่ถอนป้ายโฆษณาลักลอบติดทั่วกรุงแล้วเกือบ 2 แสนป้าย ปรับเงินเข้าราชการกว่า 10 ล้าน
24 มิ.ย. 2563, 15:03
นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้โพสต์เฟซบุ๊กรายงานการดำเนินงานรื้อถอนป้ายโฆษณาที่ไม่ได้รับอนุญาต ที่ขณะนี้ได้ทำการรื้อถอนไปแล้วถึง 160,000 ป้าย โดยระบุว่า กรุงเทพมหานครเป็นเมืองใหญ่เหมือนหลาย ๆ เมืองทั่วโลก เป็นธรรมดาที่จะมีทั้งจุดที่สวยงาม และจุดที่ไม่สวยงาม โดยเป็นหน้าที่ของเมืองที่จะดูแล และพัฒนาเมืองให้เป็นไปในทางที่เรียบร้อย แต่อย่างไรก็ตามถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือดูแลจากประชาชนที่อาศัยอยู่คนละไม้คนละมือ ก็ไม่มีทางที่เมืองจะสวยงามได้ จิตสำนึกสาธารณะของประชาชนจึงสำคัญไม่น้อยไปกว่าความตั้งใจ และขยันขันแข็งของเจ้าหน้าที่
โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้เก็บป้ายโฆษณาที่ไม่ได้รับอนุญาตไปกว่า 160,000 ป้าย ปรับเป็นเงินเข้าทางราชการกว่า 12,000,000 ล้านบาท เป็นทั้งป้ายโฆษณาหมู่บ้าน คอนโด ขายของ ป้ายนักการเมือง ฯลฯ ที่ลักลอบมาติด ทั้งแบบไวนิล กระดาษ ถึงขนาดเป็นโครงเหล็กโบกปูนเลยก็มี เป็นความมักง่ายเห็นแก่ตัวที่ทำให้ภูมิทัศน์ที่สวยงามของเมืองต้องสกปรกรกรุงรัง โดยเจ้าหน้าที่ต้องทำงานอย่างหนักทุกสัปดาห์ในการตามเก็บป้ายเหล่านี้ ปรับก็แล้วเตือนก็แล้วก็ไม่หมดเพราะการจ่ายค่าปรับเทียบกับการได้ประโยชน์จากการโฆษณาประชาสัมพันธ์มันเทียบกันไม่ได้ การฝ่าฝืนจึงมีไม่รู้จบ
ทีนี้คนก็จะถามต่อว่าป้ายที่ขออนุญาตกับไม่ขอต่างกันอย่างไร จะขอตอบว่าส่วนใหญ่ที่ห้อยตามเสาไฟฟ้ารกรุงรังนี่ไม่ได้ขอทั้งนั้น ต้องคอยเก็บ และดำเนินคดีกันไปทุกวัน บางอันทำเลียนแบบป้ายขออนุญาตก็มี ทำเป็นป้ายไอติมโบกปูนหยาบ ๆ น่ากลัวจะหล่นโค่นไปโดนคนเดินทางเท้า
ส่วนป้ายที่ขออนุญาตในกรุงเทพมหานครตามทางเท้ามีหลายประเภทครับ เช่น ป้ายไอติม (ลักษณะเหมือนไอติมแท่ง) ป้ายตอม่อรถไฟฟ้า ป้ายตอม่อสะพานข้ามแยก ป้ายเดี่ยวตามทางแยก ประมาณ 6,800 ป้ายกระจายไปทั้ง 50 เขต เกือบทั้งหมดได้รับอนุญาตไปตั้งแต่ปี 2555 หมดสัญญาไปแล้วประมาณ 3,500 ป้าย โดยผู้บริหารยังไม่ได้พิจารณาต่อสัญญาเพราะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ชุดปัจจุบันตั้งใจจะรื้อออก และมีให้น้อยที่สุดเพื่อความสะดวกของคนเดินทางเท้ามากขึ้น ป้ายส่วนใหญ่ประมาณ 5,000 จาก 6,800 ป้ายจะเป็นป้ายไอติม ที่มาของป้ายก็คือส่วนใหญ่จะอยู่ใกล้ ๆ กับศาลาพักคอยผู้โดยสารรถประจำทางครับ
โดยกรุงเทพมหานครจะให้สิทธิติดตั้งโฆษณาได้โดยแลกกับการดูแลรักษาบูรณะ และทำความสะอาดศาลาทั้งหมดโดยให้เป็นโซนครับ และเงินอีกจำนวนหนึ่งที่จะเข้าหลวงทุกบาททุกสตางค์ แต่ในอนาคตจะน้อยลงเรื่อย ๆ ครับเพราะอยากจะให้คนเดินทางเท้าสะดวกสบายมากขึ้นครับ
อีกส่วนหนึ่งคือตู้โทรศัพท์ใหญ่ยักษ์ของ TOT ที่มักจะเห็นสุนัขจรจัดหรือคนไร้บ้านไปอาศัยนอน และยังมีขนาดใหญ่กินพื้นที่ทางเท้าไปเยอะโดยติดตั้งมาตั้งแต่สมัยท่านผู้ว่าฯ สมัคร สุนทรเวช และเปลี่ยนรูปแบบต่อเนื่องประมาณ เกือบ 400 จุดทั่วเขตชั้นใน
ตอนนี้กรุงเทพมหานครประสานให้รื้อออกตั้งแต่ช่วงโควิด 19 จนตอนนี้น่าจะเหลือไม่ถึง 20 จุดละครับ และจะทยอยรื้อจนหมดทุกจุดภายในสิ้นเดือนนี้ครับ ยาวหน่อยนะครับแต่อยากเล่าให้ฟังกันว่าเราทำอะไรกันไปบ้างในปีสองปีที่ผ่านมา และยังทำต่อเนื่องทุกวัน เพื่อให้กรุงเทพฯ ของเราดีขึ้น ทุกความร่วมมือ และชี้แนะจากทุกท่านคือการช่วยให้เมืองที่เราอยู่ดีขึ้นครับ พบเห็นป้ายเกะกะขวางทางเท้า แจ้งสำนักการจราจร และขนส่ง กรุงเทพมหานครจะดีได้ถ้าเราช่วยกัน