กรมชลประทาน เดินหน้าบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับฝนที่ตก หลังสถานการณ์ฝนในหลายพื้นที่อยู่ในเกณฑ์น้อย
25 มิ.ย. 2563, 11:03
นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศว่า ปัจจุบัน(24 มิ.ย. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมาณ 32,226 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 42 เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 8,577 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 7,672 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 31 เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 976 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่จากการติดตามปริมาณน้ำไหลงลงอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่งทั่วประเทศ (1 ม.ค. – 24 มิ.ย. 63) พบว่ามีน้ำไหลลงอ่างฯสะสมรวมกันประมาณ 3,117 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 8 ของค่าเฉลี่ยน้ำไหลงลงอ่างฯทั้งปี ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างน้อย
ซึ่งแนวโน้มสถานการณ์น้ำในปีนี้จะคล้ายกับปี 2558 ที่มีปริมาณน้ำไหลงลงอ่างฯรวมกันเพียง 3,735 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของค่าเฉลี่ยน้ำไหลลงอ่างฯทั้งปี ประกอบกับในช่วงตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงประมาณกลางเดือนกรกฎาคม 2563 ประเทศไทยจะมีปริมาณฝนลดลงจนอาจเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา จึงได้วางแนวทางบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสภาพฝนที่ตกลงมาในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ในแต่ละอ่างฯอย่างรัดกุม เพื่อให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ ไปจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้
จากที่กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ว่าหลังกลางเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป จะมีปริมาณฝนตกเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยปกติ ซึ่งจะส่งผลให้อ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำธรรมชาติและแม่น้ำสายต่างๆ มีปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้นในระยะต่อไป ขอให้พี่น้องเกษตรกรที่ยังไม่ได้ทำการเพาะปลูก วางแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับสภาพฝนที่ตกและปริมาณน้ำท่าในพื้นที่ ส่วนเกษตรกรที่ได้เริ่มทำการเพาะปลูกไปแล้ว ขอให้ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติและแหล่งน้ำในพื้นที่ของตนเป็นหลัก