ปลัดสธ.เผยไทยทดสอบวัคซีนโควิด-19 ในหนู-ลิงสำเร็จ จ่อทดสอบในคน คาดใช้จริงปลายปี 64
29 มิ.ย. 2563, 18:44
วันนี้ ( 29 มิ.ย.63 ) เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงสถานการณ์ประจำวัน และมาตรการในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เปิดเผยว่า ไทยไม่พบการติดเชื้อภายในประเทศ 35 วันต่อเนื่อง สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ในประเทศไทย
วันนี้ พบผู้ติดเชื้อใหม่ 7 ราย เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้า State Quarantine ผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,169 ราย รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 58 ราย ตัวเลขของการติดเชื้อภายในประเทศยังคงที่ 0 ราย หายป่วยแล้ว 3,053 ไม่มีเสียชีวิตเพิ่มยังคงที่ 58 ทั้งนี้ ผู้ป่วยใหม่ 7 ราย เดินทางจากประเทศอินเดีย 6 ราย เป็นหญิง 3 รายและชาย 3 ราย เข้าพัก State Quarantine พบว่า 3 รายมีอาการไอ เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น หายใจลำบาก ส่วนอีก 3 รายไม่มีอาการ อีก 1 ราย เป็นหญิง อายุ 27 ปี เดินทางมาจากสหรัฐอเมริกา เข้าพัก State Quarantine มีอาการ ไอ เจ็บคอ ทำให้ผู้ติดเชื้อในสถานกักกันโรคมีจำนวนผู้ป่วย 232 ราย เทียบเท่าร้อยละ 14.6
2. สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ของโลก
สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ของโลกว่า พบผู้ติดเชื้อ 10,237,543 ราย เพิ่มขึ้นมา 163,731 ราย สหรัฐอเมริกายังเป็นประเทศที่พบว่ามีผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมมากที่สุด รองลงมาคือประเทศบราซิล อินเดีย ตามลำดับ ขณะที่ไทยอยู่ในลำดับที่ 95 ของโลกแล้ว
ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวถึงการผ่อนปรนกิจกรรมและกิจการในประเทศระยะที่ 5 ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 สูง รัฐบาลจึงเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ทั้งยาและเวชภัณฑ์ เช่น หน้ากากอนามัย N 95 จำนวน 1,127,970 ชิ้น ชุด PPE 511,578 ชุด เครื่องช่วยหายใจว่างพร้อมใช้ทันที 11,096 เครื่อง ยา Favipiravir จำนวน 319,994 เม็ด รวมทั้งสำรวจเตียงไอซียูตามโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานครและทั่วประเทศ รองรับผู้ป่วย 571 เตียง และสำหรับผู้ป่วยที่เป็นห้องแยกหรือเป็นผู้ป่วยหนัก 11,206 เตียง และทั่วไป 10,349 เตียง ซึ่งคาดว่า เตียงผู้ป่วยมีเพียงพอที่จะรองรับ
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยังได้มีแผนพัฒนาวัคซีนตามนโยบายของรัฐบาลใน 3 แนวทางเพื่อให้คนไทยเข้าถึงวัคซีนโควิด -19 คือ ต้องมีการพัฒนาหรือวิจัยในประเทศ การทำความร่วมมือวิจัยกับต่างประเทศ และการจัดซื้อ จัดหานำมาใช้ในประเทศ โดยคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล คณะเภสัช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ร่วมกันพัฒนาและวิจัยวัคซีนต้นแบบในประเทศ โดยได้มีการทดสอบวัคซีนในหนูและลิงแล้ว พร้อมเตรียมไปสู่การทดสอบในมนุษย์ หากประสบความสำเร็จสามารถการผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้ถึง 30 ล้านโดสต่อปี คาดว่าสามารถนำไปใช้ประมาณปลายปี 64 หรืออาจเร็วขึ้น ในการจัดซื้อต่างประเทศก็ได้มีการติดตามใน 2 ประเทศ 5 หน่วยงาน คาดว่าค่าใช้จ่ายต่อโดสประมาณ 20-30 เหรียญสหรัฐ ฯ สำหรับความร่วมมือในระดับนานาประเทศ ไทยยังร่วมมือกับกลุ่มอาเซียน ระหว่างไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สำหรับการวิจัยวัคซีนในคน เพื่อผลิตร่วมกันในอนาคตอีกด้วย เพื่อให้คนไทยมั่นใจว่าจะมีวัคซีนเพียงพอและทันต่อเหตุการณ์