คมนาคม เชื่อโครงการ-แผนงานฟื้นฟูศก.จากโควิด-19 ถกเคาะรอบสอง ส.ค.นี้
30 มิ.ย. 2563, 13:24
วันนี้ ( 30 มิ.ย.63 ) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ยังมีความมั่นใจถึงโครงการ/แผนงานที่กระทรวงคมนาคม เสนอขอดำเนินการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมกรอบวงเงิน 400,000 ล้านบาท ภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 หลังจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ได้ออกมาสรุปผลการวิเคราะห์โครงการ/แผนงานในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบของโรคโควิด-19 ที่ผ่านการพิจารณาจากคณะทำงาน สศช. รอบแรกแล้วจำนวน 213 โครงการ วงเงินรวมประมาณ 101,482 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ไม่มีโครงการ/แผนงาน ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอได้รับการพิจารณา
ทั้งนี้จากการประสานงานกับ สศช. ในส่วนของการก่อสร้างเส้นทางคมนาคม และสิ่งปลูกสร้าง จะได้รับการพิจารณาในรอบที่ 2 ประมาณเดือนสิงหาคมนี้ จึงยังเป็นตามกรอบที่วางไว้โดยไม่มีโครงการใดถูกตัดสิทธิ์ เนื่องจากโครงการที่นำเสนอไปนั้นถึงแม้จะเป็นโครงการก่อสร้างถนน แต่กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ได้พิจารณาความจำเป็นมาแล้ว และอีกส่วนเป็นไปตามคำขอของแต่ละจังหวัดที่นำเสนอโครงการที่มีความจำเป็น ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้พิจารณาแล้วว่าไม่มีความซ้ำซ้อนกับแผนงานในปีงบประมาณ 2564 และตอบโจทย์กรอบเงื่อนไขของการใช้จ่ายเงินกู้ครั้งนี้ที่ช่วยสร้างเศรษฐกิจฐานราก ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ส่งเสริมการท่องเที่ยวเอื้ออำนวยให้เกิดการท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งการพัฒนาเส้นทางคมนาคมทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ในการขนส่งผลผลิตจากแหล่งผลิตไปยังแหล่งจำหน่าย ช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง เนื่องจาก สศช. ออกมาระบุถึงเป้าหมายสำคัญของการใช้จ่ายเงินกู้ 400,000 ล้านบาท ว่า โครงการ/แผนงานต้องสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก เน้นการจ้างงาน เกษตรทฤษฎีใหม่ ท่องเที่ยวชุมชน การลงทุนกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค และกระตุ้นการอุปโภคบริโภค การท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลัก
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อไปว่า เบื้องต้นกระทรวงคมนาคม ได้ยื่นของบประมาณตามแผนงานดังกล่าวไปวงเงินทั้งสิ้น 137,000 ล้านบาท แบ่งเป็น วงเงินที่ 1 มูลค่าประมาณ 7,000 ล้านบาท นำไปเยียวยาผู้ประกอบการภาคการขนส่งจากการดำเนินมาตรการ social distancing ที่ไม่สามารถขนส่งผู้โดยสารได้เต็มพิกัด ส่วนวงเงินที่ 2 มูลค่า 90,000 ล้านบาท นำไปก่อสร้างเส้นทางคมนาคม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าทางการเกษตรและส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ และวงเงินที่ 3. มูลค่า 40,000 ล้านบาท แผนการใช้ประโยชน์จากยางพารามาเป็นส่วนผสมในการสร้างอุปกรณ์เพิ่มความปลอดภัยทางถนน ของกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท
อย่างไรก็ตามในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ สศช. จะนำเสนอผลการวิเคราะห์โครงการ/แผนงานที่ผ่านการกลั่นกรองรอบแรกแล้วเสนอต่อคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้พิจารณาอีกครั้ง ก่อนนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติในวันที่ 8 กรกฎาคมนี้ ซึ่งคาดว่าจะเสนอโครงการ/แผนงาน และงบประมาณที่ผ่านการกลั่นกรองรอบแรกเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติประมาณ 700,000 -80,000 ล้านบาท