เพิ่งเคยเกิดขึ้นครั้งแรก ! "อ่างเก็บน้ำคลองพระพุทธ" แห้งขอด แทบไม่มีน้ำหลงเหลือ
3 ก.ค. 2563, 15:30
นับว่าเพิ่งเคยเกิดขึ้นครั้งแรก ฤดูฝนแต่อ่างเก็บน้ำคลองพระพุทธ อ.โป่งน้ำร้อน จันทบุรี อ่างแรกที่รับน้ำจากเทือกเขาสอยดาว ป่าต้นน้ำภาคตะวันออก แทบไม่มีน้ำหลงเหลือ จากเดิมเก็บน้ำได้ 76 ล้านลูกบาศก์เมตร เหลือเพียง 6 ล้านลูกบาศก์เมตร ในสภาพน้ำลดไปเรื่อย ๆ เพราะกว่า 6 เดือนฝนแทบไม่ตก มีแต่หญ้ารับวัชพืชสารพัดชนิดผุดขึ้นแทน ทุกฝ่ายใน อ.โป่งน้ำร้อน ประชุมเครียด หาทางรับมือวิกฤต สรุปจากนี้ไปให้ทุกครัวเรือนใช้น้ำในอ่างฯคลองพระพุทธได้อีก 10 วัน จากนั้นปิดอ่างทันที เพื่อไม่ให้อ่างสาหัสไปกว่านี้ พร้อมกับตั้งชุดเฝ้าระวังการลักลอบกักเก็บน้ำหรือแอบสูบน้ำ โดยไม่แบ่งบันกันให้เพียงพอทุก ๆ ครัวเรือน คาดจากนี้ ถ้าฝนยังไม่ตกต่อเนื่อง ความเดือดร้อนจะทวีคูณ
เวลา 09.00 น.วันที่ 3 ก.ค. 63 ที่ห้องประชุม อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี นายพีรณัฐ รัตนโอภาส นายอำเภอโป่งน้ำร้อน , นายปกครอง บุญชูกุศล นายอำเภอสอยดาว จ.จันทบุรี , ด็อกเตอร์รัฐวิทย์ ตั้งเกียรติพชร ประธานคณะกรรมการจัดการชลประทาน อ่างเก็บน้ำคลองพระพุทธ อ.โป่งน้ำร้อน , หัวหน้าส่วนราชการทุกหน่วยงานใน อ.โป่งน้ำร้อน รวมทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ใน อ.โป่งน้ำร้อน ร่วมประชุมหาทางแก้ไขวิกฤตจากการเหลือน้ำอย่างจำกัดในอ่างเก็บน้ำคลองพระพุทธ โดยใช้เวลาในการเสนอแนะวิธีการต่าง ๆ ในการใช้น้ำในอ่างดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีทั้งเสนอให้หยุดการใช้น้ำในอ่างเก็บน้ำคลองพระพุทธไปเลย กับให้ให้ใช้น้ำได้ต่อไปจากนี้อีก 10 วันจึงหยุดการใช้น้ำทันที รวมทั้งให้ตั้งชุดเฉพาะกิจคอยตรวจสอบการลักลอบหรือขโมยสูบน้ำในอ่างคลองพระพุทธ โดยใช้มาตรการตั้งแต่เบาไปหาหนักหากมีการลอบใช้น้ำ ตั้งแต่ตักเตือนไปจนถึงไม่ให้ใช้น้ำต่อไป ทั้งนี้ใช้เวลาในหารือกันกว่า 2 ชั่วโมงจึงได้ข้อสรุปว่า จะให้ทุกครัวเรือนใน อ.โป่งน้ำร้อน ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองพระพุทธได้อีก 10 วัน นับจากวันที่ 3 ก.ค. เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 13 ก.ค.
ภายหลังการประชุม ผู้สื่อข่าวไปตรวจสอบอ่างเก็บน้ำคลองพระพุทธ พบว่าแทบไม่มีน้ำหลงเหลืออยู่ จากเดิมเคยมีน้ำเต็มตลอดทั้งอ่าง กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของอ่างมีหญ้าและวัชพืชแผ่เต็มพื้นที่ขึ้นแทนน้ำ บางช่วงสามารถเห็นต้นไม้ก้นอ่างกระจายเต็มอ่าง ชาวสวนลำไยที่ต้องการใช้น้ำต่างใช้วิธีสูบน้ำขึ้นมารดน้ำในสวน บางรายขุดพื้นอ่างรอรับน้ำฝนเพื่อจะได้ใช้น้ำ
สภาพดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ไม่มีเคยเกิดขึ้นมาก่อนแต่อย่างใด โดยอ่างเก็บน้ำแห่งนี้เป็นอ่างที่รับน้ำจากเทือกเขาสอยดาว ใน อ.สอยดาว และ อ.โป่งน้ำร้อน เทือกเขาป่าต้นน้ำของแม่น้ำหลายสายในภาคตะวันออก อาทิ แม่น้ำจันทบุรี , คลองด่าน คลองกั้นเขตแดนระหว่างไทย กัมพูชา , คลองพระสะทึง จ.สระแก้ว , แม่น้ำปราจีนบุรี และแม่น้ำบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา
ดร.รัฐวิทย์ เปิดเผยว่า สภาพของอ่างเก็บน้ำคลองพระพุทธ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของ อ.สอยดาว กับ อ.โป่งน้ำร้อน ชาวสวนลไยใน 2 อำเภอนี้ต่างได้อาศัยน้ำจากอ่างนี้ในการทำสวน อยู่ในสภาพอ่างวิกฤตอย่างยิ่ง จากปกติสามารถเก็บน้ำได้ 76 ล้านลูกบาศก์เมตร เวลานี้เหลือเพียง 6 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น เนื่องจากตั้งแต่เดือน ม.ค. 63 เป็นต้นมาจนถึงวันนี้ อ.สอยดาว และ อ.โป่งน้ำร้อน ฝนแทบไม่ตก ตามลำคลองหรือลำธารตามธรรมชาติต่าง ๆ ในพื้นที่ไม่มีน้ำเก็บจนจะไหลมาสู่อ่างเก็บน้ำคลองพระพุทธได้ จึงจำเป็นต้องให้ทุกฝ่ายมาช่วยกันหาทางช่วยกันคลี่คลายปัญหา ในที่สุดจึงเห็นฟ้องกันว่าจะทุกครัวเรือนใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองพระพุทธได้จนถึงวันที่ 13 ก.ค. นี้
โดยให้ชาวสวนกักเก็บน้ำไว้ ก่อนจะยุติการให้ใช้น้ำได้ต่อไป เพื่อไม่ให้น้ำหมดไปจากอ่าง จนเกิดความวิฤกตอย่างรุนแรงต่ออ่างเก็บน้ำ และเพื่อให้ทุกครัวเรือนได้รับประโยชน์จากน้ำที่เหลือเพียงจำกัดในอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ ไม่ให้ใครลักลอบใช้น้ำด้วยการแอบกักตุนน้ำ แต่สามารถเฉลี่ยน้ำได้ทุกครัวเรือน จึงจำเป็นต้องจัดชุดเฉพาะกิจเฝ้าระวังในเรื่องนี้ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้หากใน อ.สอยดาว และ อ.โป่งน้ำร้อน ยังมีฝนตกไม่มาก ตกเพียงประปราย ความเดือดร้อนจะทวีความรุนแรงมากไปกว่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้