"จันทบุรี" เนื้อหอมหลายชาติเกาะติดไทยวิจัยหาไวรัสโควิด-19 ในค้างคาว
7 ก.ค. 2563, 19:38
ไทยเนื้อหอม หลายชาติเกาะติดไทยทำวิจัยหาไวรัสโควิดในค้างคาวมงกุฎทั้ง 23 ชนิด ต่างส่งนักข่าวมาทำข่าว องค์กรวิชาการต่างประสานขอผลการวิยจากไทย เพื่อใช้เป็นนโยบายการป้องกันโควิด-19 ของประเทศตน หลายชาติเชื่อถือการวิจัยเรื่องนี้ของไทยมาก เพราะเป็นประเทศแรกที่ค้นคนป่วยจากเชื้อไวรัสโควิด-19 จากนั้นไทยพัฒนาเทคนิคต่าง ๆ ทั้งการตรวจหาไวรัส การถอดรหัสพันธุกรรมโควิด-19 จนก้าวไปไกลมาก ล่าสุดทีมวิจัยยังเดินหน้าเก็บเลือด น้ำมูก อุจจาระค้างคาวมงกุฎทั้ง 23 ชนิด ที่มีในไทยต่อไป ยังไม่สรุปผลการวิจัย
วันที่ 7 ก.ค. ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือ “หมอล็อต” สัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยว่า จากการที่ทีมวิจัยหาไวรัสโควิด-19 จากค้างคาวมงกุฏ ซึ่งในประเทศไทยมีทั้งสิ้น 23 ชนิด ประกอบด้วยตน, ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี จากศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ คนไทยคนแรกที่ค้นพบเชื้อไวรัสโควิด-19 ในโลก และเจ้าหน้าจากหลายฝ่าย หลายหน่วยงาน ช่วยกันหาเชื้อโควิด-19 จากค้างคาวพันธุ์มงกุฏ เป็นครั้งแรกของไทยที่มีการตรวจหาเชื้อไวรัสจากค้างคาวสายพันธุ์นี้ทั้ง 23 ชนิด ตามข้อมูลที่มาจากประเทศจีนว่า อาจเป็นสัตว์ที่ทำให้เกิดไวรัสโควิด-19 โดยเริ่มจากการเก็บเลือด น้ำลาย มูล ค้างคาวมงกุฎตั้งแต่วันที่ 11 มิ.ย. ที่ถ้ำสะดอ ต.ทับไทร อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี เรื่อยมาจนถึงถ้ำในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอ่างฤาไน จ.ฉะเชิงเทรา และยังคงเก็บตัวอย่างไปเรื่อยๆ อีกหลายแห่งทั่วทุกภาคของไทยต่อไป
ปรากฏว่า การวิจัยครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากองค์กรทางวิชาการจากชาติต่าง ๆ และสื่อหลายสำนักจากหลายชาติ อาทิ สำนักข่าวสกายนิวส์ อังกฤษ, บีบีซี อังกฤษ, สื่อจากญี่ปุ่น และสื่อชาติอื่น ๆ โดยเข้ามาทำข่าว ติดตามความคืบหน้าเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแบ่งปันข้อมูลต่อกัน เพราะหลายชาติต่างเห็นว่าการวิจัยเรื่องนี้ มีความสำคัญต่อการกำหนดนโยบายเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 รวมทั้งประเทศไทยด้วยจะนำผลการวิจัยที่จะได้ต่อไปในอนาคตมาวางแผนรับมือกับเรื่องนี้ด้วย ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้การวิจัยครั้งนี้ได้รับความสนใจมาก เพราะทั่วโลกต่างค้นคว้าวิจัยเรื่องโควิด-19 ส่วนการมุ่งมาสนใจการวิจัยของไทย เนื่องจากต่างชาติไม่มีค้างคาวมงกุฎมากชนิด บางประเทศไม่มีความรู้ด้านการตรวจหาเชื้อไวรัส ขาดความพร้อมในการศึกษาวิจัย ที่สำคัญที่สุดหลายชาติเห็นว่าไทยมีความสามารถด้านการวิจัย มีความรู้การศึกษาเรื่องนี้ และมีความน่าเชื่อถือ เห็นได้ชัดเจนจากการเข้ามาทำข่าวเรื่องนี้ของสำนักข่าวต่างชาติ เพราะเชื่อมั่นการทำวิจัยของไทย จึงพากันเดินทางมาทำข่าว
นายสัตวแพทย์ภัทรพล เปิดเผยอีกว่า มีไม่กี่ประเทศที่ศึกษาวิจัยหาเชื้อไวรัสโควิด-19 จากค้างคาวมงกุฎ ในขณะที่เรื่องนี้ประเทศไทยมีความก้าวหน้าไปมาก นับตั้งแต่ ดร.สุภาภรณ์ค้นพบผู้ป่วยจากไวรัสโควิด-19 รายแรกของโลก ด้วยเทคนิควิธีการของไทย จากนั้นมีการพัฒนาในเทคนิควิธีการเรื่อยมา ทั้งวิธีการตรวจหาไวรัส การถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัส ไทยมีความก้าวหน้าไปมาก จนทำให้ต่างชาติเชื่อถือ ยอมรับไทย กระทั่งสนใจการวิจัยหาไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้ในที่สุด เพื่อจะนำผลการวิจัยไปแผนมือรับมือไวรัสโควิด-19 ของประเทศนั้น ๆ ต่อไป ในเบื้องต้นผลการวิจัยที่ได้ คือพบว่าค้างคาวเป็นแหล่งรังโรคของเชื้อไวรัสหลายชนิด การไม่กิน ไม่ล่าสัตว์ป่า รวมทั้งค้างคาวด้วย จึงเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด
นายแพทย์ภัทรพล เปิดเผยต่อไปว่า การจับค้างคาวมงกุฎ นับตั้งแต่ที่ จ.จันทบุรี เรื่อยมาจนถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอ่างฤาไน ยังคงมีการจับต่อไป และจะไปจับที่ป่าด้านตะวันตกของไทยในเร็ว ๆ นี้ แต่ต้องสำรวจหาข้อมูลแหล่งอาศัยของค้างคาวชนิดให้ชัดเจนก่อน เพราะทุกวันนี้เส้นทางหากิน ที่อยู่อาศัยของค้างคาวมงกุฎเปลี่ยนไปแล้ว ตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ซึ่งเป็นการทำงานที่ค่อนข้างยาก เพราะการเข้าไปเก็บตัวอย่างค่อนข้างยาก รวมทั้งความจำเป็นที่จะต้องมีการป้องกันการได้รับเชื้อมีความสำคัญมากอย่างยิ่งด้วย แต่ทุกคนต่างทำงานเป็นทีม ช่วยกันทำงานเต็มที่ จึงทำให้การเก็บตัวอย่างผ่านไปได้ด้วยดี ทั้งนี้ ผลการวิจัยยังไม่สรุปเพราะยังจับค้างคาวมงกุฎทั้ง 23 ชนิดไม่ครบ และยังอยู่ระหว่างการวิจัย
เครติดภาพ นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือ “หมอล็อต” สัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช