นายกฯ ให้ชะลอการเดินทางของคนไทย-ต่างชาติ ที่จะเข้ามาในประเทศ
8 ก.ค. 2563, 19:01
วันนี้ (2 เม.ย. 63) เวลา 12.30 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาลไวรัสสายพันธุ์ใหม่ “COVID-19” ณ ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงรายงานสถานการณ์การติดเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ภายหลังนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม ศบค. ว่า วันนี้ นายกรัฐมนตรีได้รับมอบชุดตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด19) จำนวน 20,000 ชุดจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และบริษัท สยามไบโอไซแอนซ์ จำกัด โดยเป็นการส่งมอบตัวอย่างล็อตแรก จากนั้นจะทยอยส่งมอบอีก 2 หมื่นตัวอย่างทุก ๆ สัปดาห์ให้แก่รัฐบาลจนครบ 1 แสนตัวอย่างภายในเดือนเมษายนนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีศักยภาพที่จะผลิตชุดน้ำยาตรวจเชื้อไวรัสด้วยราคาเพียง 1,500 บาท แทนการนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีราคาสูงถึง 4,500 บาท ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีขอบคุณทางทีมนักวิทยาศาสตร์ทั้งบริษัทสยามไบโอไซแอนซ์ด้วย ที่ทุกคนที่ช่วยกัน ซึ่งจะกระจายให้ใช้ฟรีตามโรงพยาบาลและห้องปฏิบัติการที่มีเครื่องตรวจทั่วประเทศเกือบ 100 แห่ง ถือเป็นข่าวดีและทำให้สามารถประหยัดในเรื่องของงบประมาณได้จำนวนมากด้วย
จากนั้น โฆษก ศบค. ได้รายงานสถานการณ์การติดเชื้อของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า มีตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกมีจำนวน 934,668 ราย เสียชีวิตไป 47,181 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยไทยอยู่ในลำดับที่ 36 ขณะที่สหรัฐฯ มีผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 214,482 เป็นอันดับ 1 ของโลก เสียชีวิตรวม 5,000 กว่าคน สเปนเสียชีวิต 9,000 กว่าคน อิตาลีเสียชีวิต 13,000 กว่าคน เยอรมนี 60,173 ราย สำหรับสถานการณ์ในไทยมีคนที่หายป่วยแล้ว 505 ราย เพิ่มขึ้นจากเมื่อวานนี้ 59 ราย ผู้ป่วยยืนยันขณะนี้ 1,875 ราย มีผู้ป่วยใหม่ 104 ราย และมีผู้เสียชีวิตรวม 15 ราย โดยมีรายละเอียดของผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น 3 ราย คือ รายที่ 1 เป็นผู้ป่วยชายอายุ 57 ปี มีประวัติการเดินทางจากสุไหงโก-ลกไปปากีสถานตั้งแต่ 22 ก.พ.63 แล้วเดินทางกลับประเทศไทยลงเครื่องบินที่สนามบินสุวรรณภูมิเมื่อ 29 มี.ค.63 และเดินทางกลับสุไหงโก-ลกโดยรถไฟวันที่ 30 มี.ค.63 เวลา 15.00 น. พบว่าเสียชีวิตบนรถไฟสายกรุงเทพฯ-สุไหงโก-ลก ระหว่างรถไฟวิ่งผ่าน จ.ประจวบคีรีขันธ์วันที่ 30 มี.ค.63 เมื่อตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนา ทั้งนี้ ผู้ที่เสียชีวิตมีประวัติป่วยเป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงร่วมด้วย เจ้าหน้าที่บนรถไฟขบวนนี้จำนวน 15 คน จึงต้องถูกควบคุมโรค รายที่ 2 เป็นชายไทยอายุ 77 ปี มีประวัติเป็นโรคถุงลมโป่งพองและโรคเบาหวาน สัมผัสผู้ป่วยที่ยืนยันก่อนหน้านี้ ทำให้เริ่มป่วยตั้งแต่ 18 มี.ค.63 ด้วยอาการไข้ 38 องศา มีอาการไอ เจ็บคอ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.ปัตตานี อาการแย่ลงเมื่อวันที่ 20 มี.ค.63 และเสียชีวิต 31 มี.ค.63 ส่วนรายที่ 3 เป็นชายไทยอายุ 55 ปี อาชีพขับรถสาธารณะที่สนามบินสุวรรณภูมิ มีประวัติขับรถไปที่ จ.สุรินทร์ เมื่อ 15 มี.ค.63 พักอาศัยอยู่ที่บ้านตลอด ไม่ได้ออกไปไหนและเดินทางกลับกรุงเทพฯ วันที่ 16 มี.ค.63 แล้วเริ่มมีอาการไข้ ไอแห้ง ๆ อ่อนเพลีย ไม่มีน้ำมูก เริ่มป่วย 18 มี.ค.63 รักษาที่คลินิกในวันที่ 21 มี.ค.63 เมื่อมีอาการเหนื่อยมากขึ้น ๆ เข้าโรงพยาบาล 29 มี.ค.63 และเสียชีวิต 1 เม.ย. 63ต้องขอแสดงความเสียใจกับญาติที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยทั้ง 3 รายด้วย
โฆษก ศบภ. กล่าวถึงผู้ป่วยรายใหม่ทั้ง 104 รายพบว่า กลุ่มแรก เป็นกลุ่มที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันหรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้มีจำนวน 60 ราย สนามมวยเหลือเพียง 1 ราย สถานบันเทิง 10 ราย พิธีกรรมทางศาสนาที่กลับจากอินโดนีเซีย 8 ราย และใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ 41 ราย กลุ่มที่สอง ไม่เกี่ยวกับกลุ่มผู้ป่วยก่อนหน้านี้ มี 36 ราย เป็นคนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ 3 ราย สัมผัสกับผู้ป่วยที่เดินทางจากต่างประเทศ 2 ราย ไปสถานที่ชุมนุมต่าง ๆ เช่น งานแฟร์ คอนเสิร์ต สถานที่แออัด สัมผัสกับคนต่างชาติ รวม 8 ราย บุคลากรทางสาธารณสุข 2 ราย ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญมาก ซึ่งกลุ่มที่สองเชื่อมโยงกับการเดินทางหรือสัมผัสกับคนต่างประเทศหรือเดินทางกลับจากต่างประเทศ ควรจะมีมาตรการอย่างไร
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้วิเคราะห์ พบว่า เส้นกราฟสีฟ้าของกรุงเทพมีแนวโน้มลดลงซึ่งต้องขอบคุณคนกรุงเทพฯ กับนนทบุรี ที่ช่วยกัน เส้นสีแดงคือจังหวัดอื่น ๆ ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นซึ่งต้องหาสาเหตุ โดยนายกรัฐมนตรีแสดงความห่วงใยว่า แม้จำนวนผู้ป่วยใหม่ยังมากกว่า 100 คนเป็น 104 คน ยังดีไม่พอจึงต้องช่วยกัน กรุงเทพฯ ยังเป็นอันดับ 1 คือ 30 ราย ภูเก็ต 11 ราย สมุทรปราการ 9 ราย เชียงใหม่ 4 ราย
กรมควบคุมโรคได้วิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อในพื้นที่ต่างพบว่า เชียงใหม่เกิดจากกลุ่มผู้สัมผัสผู้ป่วยอาชีพดีเจ ทำงานในหลาย ๆ ผับ ซึ่งสั่งปิดสถานที่เสี่ยงตั้งแต่ 22 มี.ค.63 แล้ว หลังจากนี้ตัวเลขน่าจะต้องลดลง ขณะที่ภูเก็ต 42 ราย ทำงานในสถานบันเทิง ร้านอาหาร โรงแรม ขับรถรับจ้าง มีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งนายกรัฐมนตรีขอให้ควบคุมให้ดี จังหวัดยะลา ปัตตานี เป็นพิธีทางศาสนาที่อินโดนีเซียร่วมด้วย จึงทำให้มีตัวเลขเกิดขึ้นตามมาอีก ทั้งนี้ จังหวัดอุตรดิตถ์ สระแก้ว ชลบุรี ยะลา จะเชื่อมโยงกับการติดเชื้อจากหลายๆที่ ด้วยพบพฤติกรรมของคนไทยที่นั่งร้านเหล้า จึงขอย้ำให้ทุกคนช่วยกันทั้งเพราะยะลา ปัตตานี ชลบุรียังเป็นตัวเลขที่สูง 20 กว่าคน
วันนี้ ที่ประชุม ศบภ. มีมติว่าจะต้องชะลอการเดินทางของคนต่างชาติและคนไทย จะต้องหยุดเชื้อให้ได้ โดยนายกรัฐมนตรีสั่งการว่า จะต้องชะลอการเดินทางเข้ามาของคนต่างชาติและคนไทย ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจะแจ้งข้อมูลให้พี่น้องประชาชนทราบต่อไป ซึ่งมีบทเรียนที่ต้องนำมาปรับ อาทิ คนไทยที่ไปประชุมที่อิตาลี 6 คน ติดเชื้อ 4 คน สัมผัสติดเชื้อเพิ่มขึ้น 1 คน ต้องกักกั้น เฝ้าระวัง 50 คน ศาสนกิจที่มาเลเซีย 132 คน ติดเชื้อ 47 คน เสียชีวิต 4 คน กักกั้น เฝ้าระวัง คนกว่า 1,000 คน ศาสนกิจที่อินโดนีเซีย 56 คน ติดเชื้อ 32 คน ครั้งล่าสุดคือ 27 คน ติดเชื้อ 19 คน กักกั้น เฝ้าระวังคน 500 กว่าคน ผู้ที่เดินทางกลับจากอังกฤษติดเชื้อ 4 คน เสียชีวิต 1 คนเป็นนักธุรกิจ กักกั้น เฝ้าระวังคน 200 กว่าคน ผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อปกปิดอาการแอบเดินทางกลับมา ซึ่งขณะนี้เป็นความเสี่ยงอย่างสูงมาก จากด่านปอยเปตติดเชื้อแล้ว 19 คน กักกั้น เฝ้าระวัง 300 กว่าคน เหล่านี้เป็นภารกิจที่หนักมากของทุกคน ไม่ใช่ภาครัฐอย่างเดียวยังรวมถึงผู้ถูกกักกั้น เฝ้าระวัง 2,000-3,000 คน ฉะนั้น นายกรัฐมนตรีจึงสั่งการมาตรการใหญ่คือตั้งแต่วันนี้ ถึง 15 เม.ย.63 ให้ชะลอการเดินทางของคนไทยและคนต่างชาติที่จะกลับมาประเทศไทย ยกเว้นกลุ่มคนที่มีการขออนุญาตกันไว้ก่อนแล้วหรือคนที่อยู่ในระหว่างการเดินทาง คนที่มีความจำเป็นที่จะต้องกลับมาให้ติดต่อกับสถานเอกอัครราชทูตในประเทศนั้น ๆ ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเข้มงวดมากที่สุด
โฆษก ศบภ. ยังเผยถึงผลสำรวจออนไลน์ความร่วมมือของประชาชนต่อการป้องกันโควิด-19 ของรัฐบาล 77 จังหวัดทั่วประเทศพบว่า การใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าในเวลาที่ออกจากบ้าน 94.03% การล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำ 90.47% ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจล 85% ข้อที่น่ากังวลใจคือการรักษาระยะห่างจากคนอื่น 1-2 เมตร มีการร่วมมือแค่ 64.81% เพราะการพูดจากันในระยะที่ใกล้โดยไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัยจะทำให้ติดเชื้อจากคนที่อยู่ใกล้ชิดได้
กรณีหน้ากากอนามัยนั้น นายกรัฐมนตรีมอบหมายภารกิจ 2 ด้านให้กระทรวงมหาดไทยได้แก่ การจัดหาหน้ากากอนามัยส่งไปยังบุคลากรกลุ่มเสี่ยงในสังกัดกระทรวงมหาดไทย โดยได้ส่งไปยังกลุ่มเป้าหมายทุกจุดแล้ว 1 ล้านชิ้นต่อวัน และจะส่งต่อเนื่องทุกวัน และการจัดการทำหน้ากากผ้า เพื่อประชาชนที่แข็งแรงดี ไม่จำเป็นที่ต้องใช้หน้ากากอนามัยและไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยง ขณะนี้จัดส่งแล้ว 43 ล้านชิ้น ส่วนที่เหลือคาดว่าไม่เกินอีก 7 วันจะทำได้ครบ
ด้านความมั่นคง พลเอก พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) และหัวหน้าผู้รับผิดชอบสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงได้ฝากว่า ข้อมูลวันเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา มีการร่วมมือกันร้อยละ 40-50 ผลสำรวจการเดินทางของประชาชนในวันธรรมดาพบว่า ลดลงอยู่ที่ร้อยละ 20-30 ซึ่งยังไม่เป็นที่น่าพอใจ จึงต้องขอความร่วมมือนายจ้าง ผู้ประกอบการ ให้พิจารณาปรับปรุงการทำงาน เพื่อให้พนักงาน ลูกจ้าง ลดการเดินทาง ลดความแออัด เพิ่มระยะห่าง หากยังเปิดโรงงาน สถานประกอบการอยู่จะเป็นความเสี่ยง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ฝ่ายความมั่นคง ทั้งตำรวจ ทหาร ช่วยดูแลความสุขให้พี่น้องประชาชน ทั้งนี้ ยังรับรายงานการเล่นการพนันในบางพื้นที่ ได้สั่งการให้ดำเนินการจับกุมไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง คนที่ทำไม่ดีต้องถูกลงโทษในสถานการณ์เช่นนี้ ขณะเดียวกัน ฝ่ายความมั่นคงได้ออกเยี่ยมบ้านดูแลกลุ่มเสี่ยงร่วมกับ อสม. ทั่วประเทศ พร้อมตักเตือนผู้ประพฤติไม่เหมาะสม ให้บังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ โดยตำรวจ ทหาร พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข และดูแลพี่น้องประชาชนอย่างดี
ในตอนท้าย โฆษก ศบภ. กล่าวว่า ขอให้ประชาชนทุกคนคอยติดตามทางโทรทัศน์ นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนทุกคนจากมาตรการต่าง ๆ พร้อมชื่นชมและขอบคุณทุกคน ที่ทำให้ผลของการติดเชื้อไม่ได้เพิ่มขึ้น แม้จะไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้พูดถึงมาตรการจากเบาไปหาหนักตั้งแต่ต้นแล้ว วันนี้จะมีการประกาศอีกครั้งทางโทรทัศน์ เพื่อให้ได้รับทราบและร่วมมือกันโดยเราต้องผนึกใจกันเป็นหนึ่งเดียวกัน