"สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน" ประชุมปรับแผนสังคมแบบวิถีใหม่พัฒนาเน้นท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
9 ก.ค. 2563, 12:56
ผู้สื่อข่าว ONBnews รายงานว่า วันที่ 9 กรกฎาคม 2563 นายมานพ หาลือ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดพะเยา เป็นประธานการประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนแผนพัฒนากำลังคนจังหวัดพะเยา พ.ศ. 2560 – 2564 ณ ห้องประชุมภูกามยาว ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดพะเยา อ.เมือง จ.พะเยา เพื่อทบทวนปรับแผนกำลังคนฯ ให้สอดรับและทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วสู่ยุค 5G สภาวะเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากผลกระทบวิกฤติการระบาดของโรคไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19)ที่ทำให้เกิดชีวิตปกติวิถีใหม่ (New normal) ทั่วโลก โดยมีภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมประชุม จำนวน 50 คน
ทั้งนี้ คณะทำงานขับเคลื่อนแผนพัฒนากำลังคนจังหวัดพะเยา แบ่งเป็น 4 คณะ ประกอบด้วย คณะทำงานกลุ่มที่พักและบริการด้านอาหาร (ประธานหอการค้าจังหวัดพะเยาเป็นประธาน) กลุ่มท่องเที่ยว (ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดพะเยา เป็นประธาน) กลุ่มสัมมาชีพ OTOP และวิสาหกิจชุมชนขนาดกลางและขนาดย่อม (ประธานสมาพันธ์ SME ไทยจังหวัดพะเยา เป็นประธาน) และกลุ่มเกษตรกร (ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดพะเยา เป็นประธาน)
นายเสริมสกุล พจนการุณ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานพะเยา เปิดเผยว่า ผลการประชุมคณะทำงานทั้ง 4 คณะ มุ่งเน้นขับเคลื่อนแผนพัฒนากำลังคนจังหวัดพะเยารองรับสังคมปกติวิถีใหม่พร้อมกันทุกมิติแบบองค์รวม อย่างเป็นระบบ ต่อเนื่องเชื่อมโยงกันตลอดห่วงโซ่คุณค่า ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ใช้ “ตลาด เทคโนโลยีและนวัตกรรมนำการผลิต” ให้ได้ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นมูลค่าสูง (ทำน้อยได้มาก) ภาคการเกษตร เน้นพัฒนาทักษะสนับสนุน “พะเยาโมเดล” เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เสริมความเข้มแข็งกลไกการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มและมาตรฐานผลิตภัณฑ์สินค้า สร้างโอกาสและเพิ่มช่องทางการตลาด และสร้างความยั่งยืน ภาคการท่องเที่ยวและบริการ เน้นพัฒนากำลังคนรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ท่องเที่ยวเชิงอาหาร และท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมอารยธรรมล้านนาแบบบูรณาการเชิงสร้างสรรค์ มุ่งเน้นการให้บริการคุณภาพมากกว่าปริมาณ มุ่งเจาะตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติรองรับนโยบาย "จับคู่ท่องเที่ยว (Travel bubble)" ของรัฐบาล ทั้งนี้ ในภาพรวมทั้ง 4 คณะ ทักษะจำเป็นที่ต้องการพัฒนาเร่งด่วนของจังหวัดพะเยา คือ ทักษะด้านภาษาต่างประเทศ วัฒนธรรมประเพณี กฎหมายเกี่ยวกับการค้าชายแดน และโลจิสติกส์ เพื่อรองรับการเปิดจุดผ่านแดนถาวรบ้านฮวก อ.ภูซาง ที่เชื่อมต่อกับด่านสากลปางมอญ สปป.ลาว ทักษะดิจิทัลสำหรับภาคการผลิต ท่องเที่ยวและบริการ เช่น ระบบเกษตรอัจฉริยะ ระบบเกษตรแม่นยำ การใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลในการขายสินค้าเกษตร OTOP ผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่น และบริการโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว และเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ และทักษะรองรับธุรกิจเกิดใหม่ คือ ธุรกิจขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค และอาหารถึงบ้าน (Goods and Food Delivery) คาราวานรถขายสินค้าและอาหารเคลื่อนที่ (Food truck) และรถจักรยานยนต์ขายกาแฟ (Motorbike cafe) รวมถึง ทักษะการให้บริการที่เน้นการดูแลสุขภาพ ความปลอดภัย และการเว้นระยะห่างทางสังคม ตามมาตรฐานแบบปกติวิถีใหม่ เพื่อร่วมกันป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ด้วย