เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"รมว.คมนาคม" ลงนาม MOU ร่วม สปป.ลาว ด้านการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล (มีคลิป)


13 ก.ค. 2562, 13:43



"รมว.คมนาคม" ลงนาม MOU ร่วม สปป.ลาว ด้านการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล (มีคลิป)




วันที่ 13 กรกฏาคม 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงนามความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ว่าด้วยความตกลงด้านการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานที่ประสบภัย ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2562 เวลา 11.00 น. ณ ห้องประชุมกรมท่าอากาศยาน โดยมี นายบุญจัน สินทะวง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว ร่วมลงนาม และมี นายแสง สุขะทิวง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวประจำประเทศไทย นายบุนจัน สินระสะวง ปลัดกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว นายวันเพ็ง จานตาโพน อธิบดีกรมการบินพลเรือน สปป.ลาว นาย แสงดาริด ขัดติยะสัก อธิบดีกรมวางแผนและความร่วมมือ สปป.ลาว นางอัมพวัน วรรณโก อธิบดีกรมท่าอากาศยาน ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ กรมท่าอากาศยาน สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด สถาบันการบินพลเรือน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ร่วมพิธี

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ กล่าวว่า ตามที่ประเทศไทยได้มอบสัตยาบันสาร เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ Convention on International Civil Aviation ซึ่งตามอนุสัญญาฯ ดังกล่าว มีข้อกําหนดให้รัฐผู้ทําสัญญาแต่ละรัฐต้องรับรองที่จะจัดให้มีกระบวนการช่วยเหลือแก่อากาศยานประสบภัยในอาณาเขตของตนเท่าที่จะสามารถปฏิบัติได้ภายใต้การกํากับของรัฐ และรัฐผู้ทําสัญญาแต่ละรัฐจะร่วมมือและประสานกันในการให้ความช่วยเหลือแก่อากาศยานที่ประสบภัย โดยมีมาตรฐานและข้อพึงปฏิบัติตามภาคผนวก 12 ว่าด้วยการค้นหาและช่วยเหลือขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติให้การค้นหาและช่วยเหลือเป็นไปด้วยความปลอดภัยและเป็นไปตามมาตรฐานสากล



หลังจาก ICAO ได้เข้ามาตรวจสอบการกํากับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินของประเทศไทย ภายใต้โครงการ Universal Safety Oversight Audit Program Continuous Monitoring Approach (USOAP CMA) พบว่า ประเทศไทยยังมีข้อบกพร่องในการกํากับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบิน และจากผลดังกล่าวทําให้ประเทศไทยปรับโครงสร้างหน่วยงานด้านการบินให้ชัดเจนมากขึ้น กระทั่งเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2560 ICAO ได้ประกาศให้ประเทศไทยพ้นจากการเป็นประเทศที่มีข้อบกพร่องที่มีนัยสําคัญต่อความปลอดภัย (Significant Safety Concerns) แสดงให้เห็นถึงการกํากับดูแลความปลอดภัยด้านการบินของประเทศไทย ได้กลับมาได้รับความน่าเชื่อถือต่อนานาประเทศ ทั้งนี้ งานด้านการค้นหาและช่วยเหลือเป็นส่วนหนึ่งที่ ICAO ให้ความสําคัญ เนื่องจากเป็นงานที่แสดงให้เห็นถึงความปลอดภัยของผู้ใช้บริการการเดินอากาศ อีกทั้งมีข้อกําหนดให้รัฐภาคีแต่ละรัฐต้องมีการประสานงานกับหน่วยค้นหาและช่วยเหลือที่อยู่ใกล้เคียง เพื่อขยายความเป็นไปได้ที่จะช่วยผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที


 


ปัจจุบันการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมการบิน โดยเฉพาะการบินระหว่างประเทศ เป็นอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดและรักษาไว้ซึ่งมิตรภาพและความเข้าใจต่อกันในระหว่างชาติ และพลเมืองโลก ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะสนับสนุนให้การบินพลเรือนได้ วิวัฒนาการไปในทิศทางที่ปลอดภัยและมีมาตรฐานสากล ดังนั้น การจัดทําความตกลงฯ ระหว่างประเทศจึงมีความสําคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้การปฏิบัติงานร่วมกันสามารถบังเกิดผลเป็นรูปธรรมได้ การจัดทําความตกลงด้านการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัยระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในครั้งนี้ จะส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศ สร้างความเข้าใจร่วมกันในการปฏิบัติงาน และเพิ่มประสิทธิภาพให้การค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัยระหว่างสองประเทศ ทําให้ผู้ใช้บริการอากาศยานทั้งในและระหว่างประเทศเกิดความเชื่อมั่น ยกระดับความปลอดภัยด้านการบินให้มีมาตรฐาน ในระดับสากล รวมทั้งสอดคล้องกับพันธกรณีของไทยภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศ

ข้อมูล : ข่าวและภาพกิจกรรมกระทรวงคมนาคม






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.