"บิ๊กตู่" หนุน BCG โมเดล ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ กระจายรายได้เป็นธรรม
15 ก.ค. 2563, 15:08
วันนี้ ( 15 ก.ค.63 ) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเปิดงานและแสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง "BCG : โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” พร้อมเป็นสักขีพยานในพิธี ลงนามความร่วมมือโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG โมเดล) สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ร่วมลงนาม 18 หน่วยงาน
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประชุมสมัชชา BCG ในวันนี้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินการตามรัฐบาลวิถีใหม่ ที่ทุกภาคส่วน ร่วมคิด ร่วมวางแผนอนาคตไทย ทำงานเชิงรุก ก้าวไปข้างหน้าด้วยพลังของคนไทย ร่วมกันสร้างชาติ พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยให้กลับมาสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ซึ่งรัฐบาลขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า เศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ให้ความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เช่น การเกษตรแนวใหม่หรือทฤษฎีใหม่ ที่ใช้เทคโนโลยีเพิ่มมูลค่าและไม่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม การประยุกต์วัสดุเหลือใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ การบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด สอดคล้องกับปริมาณฝนและปริมาณแหล่งน้ำในระบบน้ำต่างๆ โรงไฟฟ้าและพลังงานต่างๆโดยพืชพลังงาน โดยรัฐบาลพร้อมทำความเข้าใจและร่วมมือกับประชาชนขับเคลื่อนการทำงานในลักษณะ New Normal หรือโลกยุคใหม่ โดยสนับสนุนงบประมาณ สนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงหรือนวัตกรรม
นายกรัฐมนตรี ยังเชื่อมั่นว่า โมเดลเศรษฐกิจ BCG จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทำให้ไทยก้าวข้าม “กับดักประเทศรายได้ปานกลาง” และลดความเหลื่อมล้ำ การกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากร ยาและเวชภัณฑ์ ลดปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อม ลดความเสี่ยงจากโรคระบาดในคน สัตว์และพืช ตอบโจทย์ประเทศไทยในยุคหลังสถานการณ์โควิดสร้างรายได้ประเทศในอนาคตให้สูงขึ้นอีกด้วย
นายกรัฐมนตรียังเน้นว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ต้องสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและสอดรับกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และแนวทางการสร้างความเข้มแข็งด้วย "บวร" เพื่อโดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ครอบคลุมกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้านเป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศเพื่อความมั่นคง มั่นคั่ง อย่างยั่งยืน ด้วยบูรณการแผนงานให้สอดคล้องและกัน เป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ภายในระยะเวลา 5 ปี 10 ปี ตามที่กําหนดในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ส่วนการดำเนินงานรายปีก็จะการกำหนดเป้าหมาย โครงการ/แผนงาน การใช้จ่ายเงินงบประมาณประจำปีอย่างรอบครอบและโปร่งใสด้วย
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่า การทำงานวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้น ในการขับเคลื่อนประเทศด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจ ยุคหลังจากโควิด-19 โดยมุ่งมั่นเปลี่ยนวิกฤตโควิด-19 ให้เป็นโอกาสของประเทศ เน้นสร้างความเข้มแข็งจากภายในประเทศ ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากไทยเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก ให้ประเทศไทยและคนไทยมีความมั่นคงทั้งด้านอาหาร สุขภาพ พลังงาน ประชาชนมีงานทำ เพื่อนำไปสู่การสร้างงานและโอกาสใหม่ของประเทศ พลิกฟื้นเศรษฐกิจ ผนึกกำลังทุกภาคส่วน ตามแนวทางการทำงาน “รวมไทยสร้างชาติ”