เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"ชุมพร" จัดสัมมนาเครือข่ายชาวสวนทุเรียนภาคใต้ เดินหน้าขับเคลื่อนการผลิตเชื่อมโยงเครือข่ายทั้งระบบ


15 ก.ค. 2563, 16:12



"ชุมพร" จัดสัมมนาเครือข่ายชาวสวนทุเรียนภาคใต้ เดินหน้าขับเคลื่อนการผลิตเชื่อมโยงเครือข่ายทั้งระบบ




วันนี้ (15 ก.ค. 63) ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า นางกุลฤดี พัฒนะอิ่ม รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นประธานเปิดการสัมมนาเชื่อมโยงเครือข่ายชาวสวนทุเรียนภาคใต้ ณ โรงแรม ลอฟท์ มาเนีย อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร ซึ่งสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลาร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดชุมพร และสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคใต้ จัดขึ้นเพื่อให้เครือข่ายเกษตรกรผู้ผลิตทุเรียนในพื้นที่ภาคใต้ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางส่งเสริมการผลิตทุเรียนคุณภาพภายใต้การสนับสนุนของกรมส่งเสริมการเกษตรและสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคใต้ กิจกรรมในงานประกอบด้วย การเสวนา เรื่อง อนาคตทุเรียนไทย จากคณะวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ การเสวนา เรื่อง แนวทางส่งเสริมการผลิตทุเรียนคุณภาพ จากสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคใต้ การแสดงนิทรรศการทางวิชาการและผลงานของสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคใต้ รวมทั้งแปลงใหญ่ทุเรียนของจังหวัดชุมพร และการออกบูธ นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสวนทุเรียนจากภาคเอกชน รวมถึงกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์ของเกษตรกรผู้ผลิตทุเรียนภาคใต้ โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมการสัมมนาจาก 14 จังหวัดภาคใต้ รวมจำนวน 400 คน โดยมุ่งหวังให้เครือข่ายเกษตรกรมีความมั่นคงและยั่งยืนในการประกอบอาชีพทำสวนทุเรียนต่อไป

นางกุลฤดี พัฒนะอิ่ม รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ทุเรียนคือราชาแห่งผลไม้เขตร้อนที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทย และประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตทุเรียนที่ดีที่สุดของโลก เนื่องจากมีสภาพภูมิศาสตร์เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต มีสายพันธุ์ทุเรียนที่ดี ตลอดจนเกษตรกรมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยี ทางการเกษตรได้อย่างเหมาะสม ทำให้สามารถบริหารจัดการสวนทุเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลผลิตทุเรียนมีคุณภาพดี รสชาติเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นผลไม้เศรษฐกิจหลักอันดับ 1 ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงสุด ซึ่งยืนยันได้จากปริมาณผลผลิตทุเรียนสดส่งออกไปต่างประเทศ โดยในปี 2562 ประเทศไทยส่งออกทุเรียนไปต่างประเทศ จำนวน 655,346 ตัน คิดเป็นมูลค่าการส่งออกทุเรียนผลสดกว่า 45,000 ล้านบาท

สำหรับสถานการณ์การผลิตทุเรียนในภาคใต้ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสำคัญของประเทศไทย ลำดับที่ 2 รองจากภาคตะวันออก มีพื้นที่ปลูก 571,373 ไร่ ให้ผลผลิตแล้ว 437,995 ไร่ มีแปลงใหญ่ทุเรียน 75 แปลง เกษตรกรสมาชิกแปลงใหญ่ 3,452 ราย และกรมส่งเสริมการเกษตรได้คาดการณ์ว่าปี 2563 จะมีปริมาณผลผลิตทุเรียนจากภาคใต้ออกสู่ตลาดรวม 588,337 ตัน ซึ่งขณะนี้มีผลผลิตตามฤดูกาลออกสู่ตลาดแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 โดยมีการกระจายผลผลิตไปยังผู้บริโภคภายในประเทศและต่างประเทศที่สำคัญคือ การส่งออกทุเรียนผลสดไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของทุเรียน ด้วยวิธีการกระจายผลผลิตผ่านผู้ประกอบการ (ล้ง) ซึ่งจังหวัดชุมพรนับเป็นตลาดสำคัญเนื่องจากมีล้งรับซื้อทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดของภาคใต้ นอกจากนี้ยังกระจายผลผลิตผ่านวิสาหกิจชุมชน ศูนย์คัดแยกผลไม้ชุมชน สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร Modern Trade ไปรษณีย์ ตลาดออนไลน์ ตลาดค้าผลไม้ภายในจังหวัด การจำหน่ายตรงให้กับผู้บริโภค และการจัดงานประชาสัมพันธ์ ตลอดจนการแปรรูป ด้วยวิธีแช่แข็ง อบแห้ง กวน และทอด
กรมส่งเสริมการเกษตร ได้เล็งเห็นความสำคัญของทุเรียนทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการขยายพื้นที่ปลูก จึงได้ร่วมกับเครือข่ายแปลงใหญ่ผู้ปลูกทุเรียน จัดตั้งเป็นสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนแห่งประเทศไทย ในปี 2562 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน และให้สมาพันธ์สามารถบริหารจัดการผลิตทุเรียนตลอดห่วงโซ่ เพื่อให้ผลผลิตมีความสมดุลกับความต้องการของตลาด สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนระดับภาคมีทั้งหมด 6 ภาค ตามเขตของกรมส่งเสริมการเกษตร สำหรับภาคใต้ปัจจุบันมี ดร.ฉัตรกมล มุ่งพยาบาล เป็นนายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคใต้ มีคณะกรรมการรวม 20 คน มีสมาชิก 3,400 ราย 1 ปีที่ผ่านมา สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคใต้ได้จัดทำระเบียบสมาพันธ์และอยู่ระหว่างเตรียมการจัดตั้งเป็นสมาคมชาวสวนทุเรียน รวมทั้งได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ถ่ายทอดความรู้การผลิตทุเรียนคุณภาพแก่สมาชิก และพัฒนาเกษตรกรต้นแบบในเรื่องการลดต้นทุนการผลิต การเชื่อมโยงตลาดกับลูกค้า และในอนาคตมีแผนขยายผลการลดต้นทุนให้ครอบคลุมสมาชิกจะทำให้เกษตรกรสมาชิกสมาพันธ์มีความเสมอภาคในการรับประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน

นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า 1 ปี กับการจัดตั้งสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคใต้ ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลการเกษตรของภาคใต้ได้ร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ กับสมาพันธ์ฯ อย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) ได้บริหารจัดการเพื่อรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นฤดูกาลผลิต ขณะนี้สถานการณ์การส่งออกทุเรียนไปต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน ยังมีความต้องการเป็นจำนวนมากและไทยยังส่งออกเป็นอันดับ 1 แต่การเพิ่มขึ้นของพื้นที่การปลูกทุเรียนทั้งในประเทศและเพื่อนบ้านเกิดการแข่งขันมากขึ้น ดังนั้นการพัฒนาคุณภาพจึงสำคัญมาก เป็นตัวกำหนดทิศทางอนาคตของทุเรียนไทย

การสัมมนาเชื่อมโยงเครือข่ายชาวสวนทุเรียนภาคใต้ครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตรโดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา สำนักงานเกษตรจังหวัดชุมพร และสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคใต้ เพื่อให้สมาชิกเครือข่ายชาวสวนทุเรียนภาคใต้ ได้มีโอกาสเรียนรู้สถานการณ์การผลิตและการตลาดทุเรียนทั้งจากภาครัฐและเอกชน โดยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจาก ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี กรมวิชาการเกษตร วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในการจัดนิทรรศการการผลิตทุเรียนคุณภาพ และจากภาคเอกชนในการแสดงและจำหน่ายปัจจัยการผลิตในแปลงทุเรียน

ด้าน ดร.ฉัตรกมล มุ่งพยาบาล นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคใต้และนายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยคนแรก กล่าวถึง ผลการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมาว่า สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคใต้ ได้เริ่มมีบทบาทในการดำเนินงานทั้งในส่วนของการจัดตั้งองค์กร และการสนับสนุนทางวิชาการแก่เครือข่ายชาวสวนทุเรียนภาคใต้
 

 









Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.