อำนาจเจริญ แถลงการผลิตสื่อวีดิทัศน์อัตลักษณ์ หมอลำ ตำนานยักษ์คุ อย่างยิ่งใหญ่รับมือนักท่องเที่ยวปี 64
16 ก.ค. 2563, 13:01
เมื่อวันนี้ (16 กรกฎาคม 2563 ) ที่บริเวณศาลาริมน้ำ เทศบาลตำบลชานุมาน อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ นายธนูสินธ์ ไชยสิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ เป็นประธานการแถลงข่าวประชาสัมพันธ์การผลิตสื่อวีดิทัศน์อัตลักษณ์หมอลำ ตำนานยักษ์คุ ภายใต้โครงการเทศกาลศิลปะร่วมสมัยลุ่มแม่น้ำโขง โดยมีผู้ร่วมแถลงข่าว ประกอบด้วย พระมหาทินกร อิสฺสโร เจ้าคณะอำเภอชานุมาน ในหัวข้อความศรัทธาในพระพุทธศาสนา วิถีวัฒนธรรมชาวชานุมานที่สัมพันธ์กับตำนานยักษ์คุ นางสาววาสนา ไชยพรรณา วัฒนธรรมจังหวัดอำนาจเจริญ ในหัวข้อโครงการเทศกาลศิลปะร่วมสมัยลุ่มแม่น้ำโขง และกิจกรรมผลิตสื่ออัตลักษณ์หมอลำ“ตำนานยักษ์คุ”นายสกนธ์ บุญวิทย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดอำนาจเจริญในหัวข้อ การส่งเสริมให้เกิดรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และผู้แทนนายอำเภอชานุมาน ในหัวข้อการจัดงานเทศกาล ประเพณีแห่ยักษ์คุอำเภอชานุมาน โดยผู้เข้าร่วมงานในครั้งนี้ แต่งกายในชุดพื้นถิ่นชานุมาน พร้อมกับมีการแต่งหน้ายักษ์ให้เข้ากับบรรยากาศด้วย
จังหวัดอำนาจเจริญมีพรมแดนติดฝั่งประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีแม่น้ำโขงเป็นพรมแดนขวางกั้นด้านอำเภอชานุมาน มีอารยธรรมวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น และมีความเชื่อตำนานเรื่องเล่าที่คล้ายกันผ่านมุมมองของศิลปวัฒนธรรมแถบลุ่มน้ำโขง เป็นการสานประโยชน์และการสานสัมพันธ์ร่วมกัน โดยอาศัยต้นทุนทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย นำมาซึ่งการประยุกต์ ต่อยอดและพัฒนาให้เกิดประโยชน์ทั้งในเชิงสร้างสรรค์ เกิดคุณค่าทางจิตใจ เกิดตระหนักรู้ของคนในชาติและภูมิภาคอาเซียน พร้อมสร้างมูลค่าเชิงเศรษฐกิจ อันเกิดจากเสน่ห์ดึงดูดในรูปแบบของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และการใช้สินค้าหรือบริการของไทย นำไปสู่ความเข้มแข็ง มั่งคั่ง ยั่งยืน
โครงการเทศกาลศิลปะร่วมสมัยลุ่มแม่น้ำโขง (ยักษ์คุจังหวัดอำนาจเจริญ) บูรณาการร่วมกับประเพณีชุมชนท้องถิ่นที่จัดขึ้นทุกปี โดยมีประชาชนจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมประเพณีเป็นประจำทุกปี โดยจังหวัดอำนาจเจริญ มีพื้นที่พรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน คืออำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ สามารถไปมาหาสู่และร่วมกิจกรรมระหว่างสองฝั่งโขงได้ตามปกติ งานด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย จึงเป็นกิจกรรมการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ เป็นสื่อกลางสร้างมิตรภาพ เชื่อมความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีในทุกระดับ และถือเป็นต้นทุนสำคัญที่ช่วยสร้างรายได้และสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทย และประเทศแถบลุ่มน้ำโขงไปจนถึงประเทศในภูมิภาคอาเซียนให้เป็นที่ประจักษ์สายตาสู่ระดับนานาชาติต่อไปซึ่งงานจะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 1-10 เมษายน 2564
ประวัติมีว่าเมื่อครั้งพุทธกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนยักษ์ทั้งหลายให้เข้าใจในพระธรรมเพื่อลดทิฐิมานะ และทรงมอบหมายภาระหน้าที่ให้ยักษ์ที่เข้าใจในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์เป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำชูพระพุทธศาสนา ซึ่งถือว่าเป็น ผู้แบกสรวงสวรรค์ และทำหน้าที่เป็นผู้ปกป้องคุ้มครองสถูปสถานอาคารศักดิ์สิทธิ์และป้องกันภูตผีปีศาจเข้ามาทำลายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามวัดวาอารามต่าง ๆ เพื่อเป็นการค้ำชูพระพุทธศาสนาให้มั่นคงและเจริญรุ่งเรืองสืบต่อมา ท้าวเวสสุวรรณ ซึ่งเป็นเทพผู้ปกครองดูแลยักษ์และภูตผีปีศาจทั้งปวงเป็นผู้ดูแลคุ้มครองโลกมนุษย์ทางทิศอุดร (ทิศเหนือ) สถิตอยู่บนสวรรค์ชั้น จตุมหาราชิกา ทรงมีอิทธิฤทธิ์อานุภาพมาก ทรงนำเทวดาและยักษ์บริวารทั้งหลายเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อถวายสัตย์ที่จะดูแลพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเหล่าสาวกไม่ให้ถูกรังควาญ ตลอดจนคุ้มครองให้สัตว์โลกอยู่เย็นเป็นสุข
ต่อมาหลังสมัยพุทธกาล มีเรื่องเล่าเป็นมุขปาฐะ(เล่าปากต่อปาก) ว่าครั้งหนึ่งท้าวเวสสุวรรณทรงมีพระบัญชาให้ยักษ์บริวารตนหนึ่งชื่อ“ธรรมคุปต์” (หมายถึง ผู้รักษาธรรมหรือผดุงความดีงามต่างๆให้เกิดแก่โลก) ซึ่งเป็นยักษ์ผู้มีคุณธรรมและใฝ่ใจในพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำหน้าที่ลาดตระเวนดูแลพฤติกรรมยักษ์ในเขตดินแดนเลียบฝั่งมหานทีอันยาวไกล(แม่น้ำโขง) หากว่ามียักษ์อันธพาลมารุกรานมนุษย์และสัตว์โลกให้เกิดความเดือดร้อนก็ให้ปราบเสีย ยักษ์ธรรมคุปต์จึงได้เหาะเหินเดินอากาศลาดตระเวนตรวจตราตามพระบัญชาของท้าวเวสสุวรรณ จนกระทั่งมาถึงดินแดนอันน่าพิศวงแห่งหนึ่ง ยักษ์ธรรมคุปต์มองเห็นแผ่นดินทั้งสองฝั่งมหานทีฝั่งหนึ่งเป็นทุ่งหญ้ากว้างใหญ่เขียวขจี อีกฝั่งหนึ่งเป็นปราสาทเฮือนหินเก่าแก่ ยักษ์ธรรมคุปต์มองไปยังรอบๆ บริเวณปราสาทเฮือนหินและเพ่งมองเข้าไปข้างในปราสาทยิ่งนึกถึงเรื่องที่เคยได้ยินมาว่า ปราสาทหินแห่งนี้มีความศักดิ์สิทธิ์เคยเป็นธรรมสถานที่พระพุทธเจ้าเสด็จผ่านมาเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาและแสดงธรรมโปรดแก่ผู้คนในละแวกนี้ ยักษ์ธรรมคุปต์จึงลงไปนั่งคุกเข่าริมฝั่งมหานทีที่เป็นทุ่งหญ้ากว้างใหญ่และหันหน้าไปทางปราสาทเฮือนหินที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง พนมมือขึ้นตั้งจิตอธิษฐานขออำนาจบารมีอันประเสริฐของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและอำนาจบารมีของท้าวเวสสุวรรณ อีกทั้งอำนาจบารมีของเหล่าเทวดาอารักษ์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวงที่สถิตอยู่ ณ บริเวณนี้ได้ดลบันดาลให้อาณาบริเวณที่ตนเองแวะผ่านลงมานั่งคุกเข่ากลายเป็นเมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์ ผู้คนที่อาศัยอยู่ ณ บ้านเมืองนี้อยู่เย็นเป็นสุข มีจิตใจดีงามและขอให้เป็นเมืองแห่งธรรมะตลอดกาล สิ้นคำอธิษฐานยักษ์ธรรมคุปต์ก้มกราบไปยังปราสาทเฮือนหินสามครั้ง จากนั้นยักษ์ธรรมคุปต์จึงเหาะเหินเดินอากาศลาดตระเวนต่อไป ด้วยร่างกายอันมหึมาเข่าทั้งสองข้างและอัณฑะของยักษ์ธรรมคุปต์ได้ทิ่มลงไปในพื้นดินทำให้เกิดเป็นร่องหลุมขนาดใหญ่สามหลุม เมื่อถึงฤดูฝนหลุมที่เป็นรอยเข่าซ้ายขวาและรอยอัณฑะของยักษ์ธรรมคุปต์จึงมีน้ำขังเต็มกลายเป็นบึงน้ำ ๓ บึงที่ก่อเกิดความอุดมสมบูรณ์ มีผู้คนมาอาศัยเป็นหลักแหล่งในการเลี้ยงสัตว์และทำการเกษตรกรรม และมีน้ำขังตลอดปีไม่เคยแห้งเหือดลงแม้แต่ในฤดูแล้ง เมื่อผู้คนทยอยมาอาศัยอยู่หนาแน่น ชนกลุ่มนั้นจึงตั้งชื่อหมู่บ้านตามรอยยักษ์คุกเข่าว่า “บ้านท่ายักษ์คุ” ต่อมาบ้านท่ายักษ์คุซึ่งตั้งชื่อเมืองตามตำนานบ้านท่ายักษ์คุที่มียักษ์มานั่งคุกเข่า ชานุ หมายถึง เข่า มาร หมายถึง ยักษ์ และ คุ ในภาษาอีสาน แปลว่า คุกเข่าซึ่งรวมความหมายว่า เมืองยักษ์คุกเข่ากลายเป็นชุมชนที่หนาแน่นมากขึ้น จนได้รับการจัดตั้งเป็นหัวเมืองชื่อ “เมืองชานุมารมณฑล” และเป็นอำเภอชานุมาน ปัจจุบันรอยเข่าข้างซ้ายเป็นบึง ณ บริเวณแก่งต่างหล่าง ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำโขง เขตบ้านศรีสมบูรณ์ ตำบลชานุมาน ส่วนรอยเข่าขวาปรากฏเป็นบึง ณ บริเวณนาแมงในเขตบ้านชานุมาน ตำบลชานุมาน และรอยอัณฑะ ปรากฏ ณ บริเวณหนองใหญ่ ในเขตบ้านยักษ์คุ ตำบลชานุมาน ก่อนถึงสถานีตำรวจภูธรชานุมาน ทางขวามือ แขนและมือยักษ์ที่กราบทาบลงไปบริเวณหัวเกาะกลางน้ำโขงซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “ดอนชะโนด” นั้น ยังปรากฏเป็นร่องน้ำ ณ บริเวณหัวดอน มาจนถึงปัจจุบัน