เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



พาส่อง  โรงเรือนกัญชาโคราช  พื้นที่ 15 ไร่  ปลูกแล้วรวม 3,360 ต้น


18 ก.ค. 2563, 12:58



พาส่อง  โรงเรือนกัญชาโคราช  พื้นที่ 15 ไร่  ปลูกแล้วรวม 3,360 ต้น




 

วานนี้ วันที่ 17 กรกฎาคม 2563 ที่โรงเรือนกัญชา สวนเกษตรเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา บรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) นครราชสีมา รองศาสตราจารย์ ดร.วีรพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มทส. พร้อมผู้บริหารและคณะทำงานโครงการผลิตกัญชาคุณภาพ เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ร่วมเก็บเกี่ยวใบกัญชาสด มทส.รุ่นแรก ซึ่งเป็นต้นกัญชาสายพันธุ์ฝอยทองภูผายล รวมน้ำหนัก 1,000 กิโลกรัม จากนั้นนำไปตรวจสอบคุณภาพก่อนส่งต่อโรงพยาบาลคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ 

ในลักษณะใบกัญชาแห้ง 100 กิโลกรัม เพื่อใช้ผลิตยาสมุนไพร 9 ตำรับเชิงพาณิชย์เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ อธิการบดี มทส.) เปิดเผยว่า มทส.ได้ร่วมกับกรมการแพทย์แผนไทย ขับเคลื่อนและเตรียมความพร้อมการผลิตกัญชาแพทย์แผนไทยตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อปลูกวัตถุดิบกัญชา ตรวจสอบคุณภาพ การใช้พื้นที่แปรรูป การวิจัยยาสมุนไพรที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม เพื่อให้ได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพดีสำหรับทำยาสมุนไพรคุณภาพและถูกต้องตามมาตรฐานสากล ด้วยศักยภาพของบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านพืชและพัฒนาสายพันธุ์ โครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณูปโภคและเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็ง ได้ดำเนินโครงการวิจัยการผลิตกัญชาเชิงคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ โดยมีศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นันทกร บุญเกิด เป็นนักวิจัยหลัก เพื่อวางแผนการผลิต การจำหน่ายและการใช้ประโยชน์ผ่านความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

 มทส. เป็นสถาบันการศึกษาได้รับอนุญาตให้ปลูกกัญชาเพื่อการวิจัยใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บนพื้นที่ 15 ไร่ รวมจำนวน 3,360 ต้นต่อรอบการผลิตเก็บเกี่ยวผลผลิตสดรวมน้ำหนักกว่า 2,000 กิโลกรัม เพื่อวิจัยการผลิตกัญชาเชิงคุณภาพใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เป็นคลัสเตอร์วิจัยที่สำคัญมีส่วนผลักดันเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์สาธารณสุขให้ประชาชนเข้าถึงกัญชาและสมุนไพรทางการแพทย์อย่างปลอดภัย ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ในการเป็นแหล่งผลิต แหล่งศึกษาวิจัยและแหล่งสร้างองค์ความรู้ด้านกัญชารวมถึงพืชสมุนไพรของประเทศ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้งการพัฒนาสายพันธุ์คุณภาพ ที่ให้ปริมาณสารสำคัญสูง สร้างมาตรฐานการผลิต การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ พัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่ การคิดค้นตำรับยาและการใช้สารสำคัญในการพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัย รวมทั้งการพัฒนาต่อยอดทางด้านเทคโนโลยีการแพทย์และการสาธารณสุขเพื่อรองรับบริการด้านอุตสาหกรรมทางการแพทย์



 ด้าน ดร.นันทกร บุญเกิด นักวิจัยหลักโครงการฯ กล่าวว่า นับจากที่ได้ดำเนินการย้ายต้นกล้ากัญชาสายพันธุ์ฝอยทองภูผายล สกลนคร เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เข้าภายในโรงเรือนเพื่อการปลูกขนาด 5 x 100 เมตร จำนวน 2 โรง แบ่งออกเป็นโรงเรือนสำหรับปลูกในกระถาง 1,500 กระถาง และโรงเรือนสำหรับปลูกแบบลงดิน 1,860 ต้น รวมพื้นที่ในการปลูก 3,090 ตารางเมตร วางระบบน้ำหยด พร้อมระบบระบายอากาศ ตามหลักมาตรฐาน เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 8 พบต้นกัญชาเจริญเติบโตมีลำต้นและใบที่สมบูรณ์มีความสูงเฉลี่ย 1.5 เมตร แม้พบอุปสรรคอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาและพายุฤดูร้อนฝน แต่เราได้ดูแลอย่างใกล้ชิดภายในโรงเรือนระบบปิดสามารถควบคุมอุณหภูมิและระดับความชื้นที่จะส่งผลการกระทบต่อการเจริญเติบโตได้เป็นที่น่าพอใจ เป็นไปตามแผนการใช้ประโยชน์กระทั่งสามารถเริ่มเก็บเกี่ยวใบกัญชาสดได้ตามกำหนด รอบแรกเก็บใบสดที่สมบูรณ์ คือใบที่มีลักษณะ 7 แฉก เป็นใบใต้กิ่งช่วงกลางลำต้น เรียกว่า “ใบเพสลาด” ช่วงเวลาเก็บที่ดีที่สุดคือ 03.00 -06.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่ให้สารออกฤทธิ์ทางยาคุณภาพดี โดยเก็บเกี่ยวในครั้งนี้จำนวน 1,000 กิโลกรัม และนำมาพึ่งลมเพื่อให้ ได้ใบกัญชาแห้งในรอบแรกที่น้ำหนัก 100 กิโลกรัม จากนั้นเก็บเกี่ยวในส่วนของดอก กิ่งและลำต้นตามลำดับ ช่วงประมาณเดือนกันยายนนี้ เพื่อส่งมอบให้ รพ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์และ รพ.เครือข่ายกรมการแพทย์แผนไทย พัฒนาต่อยอดผลิตยาสมุนไพรไทยสู่เชิงพาณิชย์ จำนวน 9 ตำรับ คือ ตำรับศุขไสยาศน์ ตำรับทำลายพระสุเมรุ ตำรับยา ทาริดสีดวงทวารและโรคผิวหนัง ตำรับยาแก้ลมแก้เส้น ตำรับยาแก้ลมขึ้นเบื้องสูง ตำรับยาแก้ลมเนาวนารีวาโยตำรับยาไพสาลี ตำรับยาอไภยสาลี และตำรับยาแก้นอนไม่หลับ/ยาแก้ไขผอมเหลือง เป็นไปตามแผนการผลิตกัญชาเชิงคุณภาพเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน

 

“อย่างไรก็ตามคณะนักวิจัยจะได้รวบรวมองค์ความรู้ด้านต่างๆ เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องแก่วิสาหกิจชุมชน นับแต่การคัดเลือกสายพันธุ์ การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว รวมถึงการแปรรูปวัตถุดิบกัญชาคุณภาพ เพื่อให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน รวมถึงการศึกษาวิจัยการพัฒนาแพลตฟอร์มกระบวนการผลิต สารสกัดจากกัญชาให้มีความบริสุทธิ์สูงระดับโมเลกุลด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ต่อไป ”

 

 


 

 

 

ที่มา Suranaree University of Technology






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.