เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"คลัง" ชี้แจง ปมดราม่าว่อนโซเชี่ยล  ยึดเงินฝากประชาชน ที่ไม่มีการเคลื่อนไหวเกิน 10 ปี


20 ก.ค. 2563, 16:49



"คลัง" ชี้แจง ปมดราม่าว่อนโซเชี่ยล  ยึดเงินฝากประชาชน ที่ไม่มีการเคลื่อนไหวเกิน 10 ปี




 


นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ตามที่มีการส่งต่อข่าวในโซเซียลมีเดียว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการออกกฎหมาย (ร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการบัญชีเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหวของสถาบันการเงิน พ.ศ. …) เพื่อให้อำนาจกระทรวงการคลังยึดเงินฝากประชาชนในบัญชีที่ไม่มีการเคลื่อนไหวเกิน 10 ปีหรือบัญชีที่เจ้าของเงินฝากหลงลืมหรือเจ้าของบัญชีเสียชีวิตแล้ว แต่ลูกหลานไม่รู้ว่าผู้ตายมีเงินฝากในธนาคารได้นั้น
 

ขอชี้แจงว่า ข่าวดังกล่าวเป็นข่าวเก่าเมื่อปี พ.ศ. 2560 และปัจจุบันยังไม่ได้มีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว เจตนารมณ์ของการยกร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เป็นไปเพื่อยึดเงินฝากของประชาชนแต่อย่างใด แต่เป็นการให้อำนาจกระทรวงการคลังเป็นผู้ดูแลเงินฝากของประชาชนที่ไม่มีการเคลื่อนไหวตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปแทนสถาบันการเงิน โดยนำเงินดังกล่าวฝากไว้ที่บัญชีเงินคงคลังและเจ้าของบัญชีหรือทายาทยังมีสิทธิขอเงินคืนได้ตลอดเวลา

 



อย่างไรก็ดี ปัจจุบันรัฐบาลมีภารกิจเร่งด่วนในการดูแลให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ และกลับมาเดินหน้าต่อได้อย่างเร็วที่สุด ดังนั้น จึงได้ชะลอการตรากฎหมายฉบับนี้ออกไป

 

สรุปร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการบัญชีเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหวของสถาบันการเงิน พ.ศ. ....

ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการบริหารจัดการเพื่อนำเงินในบัญชีเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหวเป็นระยะเวลานาน ทำให้มีปริมาณเงินจำนวนมากค้างอยู่ในระบบสถาบันการเงิน โดยไม่ได้ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างแท้จริง ดังนั้น การกำหนดให้รัฐบาลสามารถบริหารจัดการเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหวของสถาบันการเงินได้จะก่อให้เกิดประโยชน์ เนื่องจากจะเป็นแหล่งเงินเพิ่มเติมให้กับรัฐบาลในการเพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ 

ระบบกฎหมายในปัจจุบันยังมิได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการบริหารจัดการบัญชีเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหวสำหรับธุรกรรมการเงินระยะยาวของสถาบันการเงิน อันได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ทำให้ไม่มีการบริหารจัดการเงินจากบัญชีเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหวที่มีประสิทธิภาพ จึงสมควรจัดตั้งบัญชีอันเป็นช่องทางในการบริหารจัดการเงินจากบัญชีที่ไม่มีการเคลื่อนไหวของสถาบันการเงิน โดยจะนำเงินดังกล่าวฝากไว้ที่บัญชีเงินคงคลัง ซึ่งเป็นแหล่งรับฝากเงินที่มีความปลอดภัยเพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อเงินต้นของประชาชน เนื่องจากประชาชนมีสิทธิขอคืนได้ตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องยกร่าง พ.ร.บ.Dormant Account ซึ่งแบ่งเป็น 4 หมวดรวมทั้งสิ้น 13 มาตรา สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1.การกำหนดนิยาม
-ประเภทของเงินฝาก เงินบาท และเงินตราต่างประเทศในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์และบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน ทั้งของบุคคลที่มีถิ่นฐานในประเทศ และต่างประเทศ ทั้งนี้ ไม่รวมถึงเงินฝากประจำทุกประเภท เงินฝากที่ประชาชนนำมาใช้เพื่อประกันหนี้กับสถาบันการเงินผุ้รับฝาก เงินฝากที่ถูกยึดหรืออายัดซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินคดี
-บัญชีที่ไม่เคลื่อนไหว หมายถึง บัญชีที่ไม่มีการฝาก ถอน หรือโอน เป็นระยะเวลาเกินกว่า 10 ปี 
-การเริ่มนับวันที่บัญชีไม่เคลื่อนไหว ให้เริ่มนับจากวันที่ 1 มกราคมของปีถัดจากวันสุดท้ายที่บัญชีมีการเคลื่อนไหว
-หลักการติดตาม ทุกบัญชีที่ไม่มีการเคลื่อนไหวของบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล ทั้งนี้ แม้ว่าบุคคลดังกล่าวจะมีบัญชีเงินฝากอื่นที่เคลื่อนไหวก็ตาม 
-สถาบันการเงิน หมายถึง ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รับเงินฝาก

2.กำหนดให้สถาบันการเงินนำส่งเงินในบัญชีที่ไม่มีการเคลื่อนไหวให้กับกรมบัญชีกลาง เพื่อให้กรมบัญชีกลางนำเงินดังกล่าวฝากไว้ที่บัญชีเงินคงคลัง ซึ่งเป็นแหล่งรับเงินฝากที่มีความปลอดภัยเพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อเงินต้นของประชาชน เนื่องจากประชาชนมีสิทธิขอคืนได้ตลอดเวลา

3.กำหนดให้เจ้าของบัญชีเงินฝาก หรือทายาทสามารถขอรับเงินคืนได้ที่กรมบัญชีกลาง โดยจะมีการตรวจสอบความถูกต้องผ่านกระบวนการที่กรมบัญชีกลางกำหนด และคืนเงินต้น โดยไม่มีดอกเบี้ยให้กับเจ้าของบัญชีเงินฝาก หรือทายาท

ทั้งนี้ ประชาชนจะมีฐานข้อมูลออนไลน์ในการสืบค้นเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหวของตนเองหรือของบุคคลอื่นในฐานะทายาทเพื่อขอเงินคืนได้ ทั้งนี้ หากไม่มีการจัดทำระบบการค้นหาข้อมูลข้างต้น ประชาชนอาจจะลืมหรือไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีเงินจำนวนดังกล่าวอยู่ และหากประชาชนต้องการสืบค้นข้อมูลก็ไม่สามารถทำได้ในทันที จำเป็นต้องติดต่อสอบถามสถาบันการเงินเป็นรายๆ ไป







Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.