ส.ส.พลังประชารัฐชุดใหญ่ ลงพื้นที่นครสวรรค์ หวังช่วยแก้ไขปัญหาภัยแล้งระยะยาว
20 ก.ค. 2563, 17:28
หลังจากปัญหาภัยแล้งในจังหวัดนครสวรรค์เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้เกษตรกรได้ร้องเรียนและขอความช่วยเหลือไปยัง ส.ส.ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์เพื่อประสานหน่วยงานในพื้นที่ทั้งกรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำและกระทรวงมหาดไทยเพื่อหาทางช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาภัยแล้งและแก้ไขในระยะยาวเพื่อให้เกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการขาดน้ำอุปโภคบริโภคทางคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการกลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยาและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาความเหมาะสมของ โครงการต่างๆ ที่สามารถช่วยเหลือและจัดสรรน้ำที่เอาไว้ใช้ยามหน้าแล้งได้
วันนี้ (20 กรกฎาคม 2563) ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า นายวีระกร คำประกอบ รองประธานคณะกรรมาธิการฯ คนที่ 1 พร้อมด้วยนายภิญโญ นิโรจน์ และนายสัญญา นิลสุพรรณ และนายนิโรจน์ สุนทรเลขา ส.ส.ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ เป็นประธานการจัดประชุมพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและประชาชนผู้น้ำชุมชน ที่ประชุมได้ร่วมซักถามและแสดงความคิดเห็นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงข้อมูลการบริหารจัดการพื้นที่บึงบอระเพ็ด และการบริหารจัดการคลองบางประมุงตลอดสายเพื่อดูพื้นที่ เพื่อประเมินรายละเอียดความเหมาะสมในการดำเนินงานโครงการฯ ต่อไป
ทั้งนี้ โครงการปรับปรุงคลองบางประมุงพร้อมอาคารประกอบ เป็นโครงการฯ ที่กรมชลประทาน โดยโครงการชลประทานจังหวัดนครสวรรค์ ได้ประสานความร่วมมือกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เขตอำเภอโกรกพระ เขตอำเภอเมืองนครสวรรค์ และผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านเกี่ยวกับการขาดแคลนน้ำ สำหรับทำการเกษตรและน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค โดยผู้แทนประชาชนได้ให้ข้อเสนอความต้องการให้โครงการปรับปรุงคลองบางประมุงพร้อมอาคารประกอบ ในพื้นที่อำเภอเมืองฯ ที่ตำบลนครสวรรค์ตก และตำบลตะเคียนเลื่อน ส่วนที่อำเภอโกรกพระ ที่ตำบลบางประมุง และตำบลบางมะฝ่อ
โดยองค์การบริหารส่วนตำบลตะเคียนเลื่อน และเทศบาลตำบลบางประมุง ได้มีหนังสือขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมชลประทาน ซึ่งโครงการฯ นี้ จะดำเนินการเพื่อประโยชน์ในการทดน้ำ และเก็บกักน้ำสำหรับใช้ในการเกษตรในฤดูแล้ง และเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ในพื้นที่ ซึ่งผลที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์ประมาณ 8,000 ไร่ มีครัวเรือนได้รับประโยชน์ประมาณ 500 ครัวเรือน มีความจุน้ำเพิ่มขึ้น 2,000,000 ลูกบาศก์เมตร และได้เดินทางไปยังพื้นที่อำเภอลาดยาวเพื่อศึกษาและรับฟังปัญหาประชาชนในพื้นที่ตั้งแต่อำเภอแม่วงก์ ชุมตาบงและอำเภอลาดยาวเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีประชาชนจำนวนมากประสบปัญหาภัยแล้งขาดน้ำอุปโภคบริโภคทุกปี เพื่อให้หน่วยงาน และชาวบ้านได้แจ้งปัญหาและแนวทางแก้ไขเพื่อนำไปแก้ไขในระยะยาวต่อไป