มท. จัดเสวนาฯ "ภาครัฐกับการก้าวสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล" หนุนแนวคิดใช้เทคโนโลยีบริหารจัดการภาครัฐ
23 ก.ค. 2563, 19:40
วันนี้ (23 ก.ค. 2563) เวลา 13.15 น. ณ ห้องประชุมราชสีห์ อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้รับมอบหมายจาก นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดกิจกรรมเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในรูปแบบชุมชนนักปฏิบัติ (CoPs) ของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ครั้งที่ 5 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ในหัวข้อ “ภาครัฐกับการก้าวสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล” จัดโดย สถาบันดำรงราชานุภาพ กระทรวงมหาดไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้องค์การภาครัฐ ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการก้าวสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการบริหารจัดการภาครัฐ เพื่อก้าวไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ซึ่งการเสวนาในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เข้าร่วมถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ และได้มีการถ่ายทอดสดผ่านระบบ Video Conference ไปยังศาลากลางจังหวัด ทั้ง 76 แห่งทั่วประเทศ และผ่านระบบ Video Streaming อีกทางหนึ่งด้วย
โอกาสนี้ นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตของเราแทบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสาร การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ การบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อใช้ในการวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์การภาครัฐที่จะต้องตื่นตัว ตื่นรู้ และตื่นพัฒนา เพื่อเข้าสู่การปรับเปลี่ยนภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐบาลในการเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันและเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระยะ 20 ปี อีกด้วย ดังนั้น การส่งเสริมแนวคิดที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อใช้ในการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการขององค์การภาครัฐ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ เพื่อก่อให้เกิดแบบแผนและเป็นระบบจนสามารถพัฒนาสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลได้อย่างสมบูรณ์ ตามความต้องการของประชาชนหรือผู้มาขอรับบริการ
ท้ายนี้ นายสมคิด จันทมฤก ได้เน้นย้ำว่า การที่จะก้าวสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลให้ประสบผลสำเร็จได้นั้น ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งก็คือ การเตรียมความพร้อมบุคลากรขององค์การภาครัฐ อย่างน้อย 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มผู้บริหารระดับสูงขององค์การภาครัฐ ที่จะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องดิจิทัลภาครัฐ เพื่อกระตุ้นและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบาย และ 2. กลุ่มผู้ปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ที่จะต้องได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดทักษะที่เหมาะสม ซึ่งจะสามารถสนับสนุนในการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในกระบวนการทำงาน และการบริการขององค์การได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล พร้อมกันนี้หน่วยงานภาครัฐจะต้องมีการปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ และพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของบริบทที่เกิดขึ้น เพื่อปรับเปลี่ยนองค์การภาครัฐให้สามารถพัฒนาไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลต่อไป