ชาวบ้านร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ช่วยด้วยเหม็นมาหลายปี
23 ก.ค. 2563, 19:56
วันนี้ (23 ก.ค.63) พลเอก วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตำบลหนองนาคำ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหา 2 โรงงานยางพาราขนาดใหญ่ ที่ได้รับการร้องเรียนสร้างมลภาวะทางกลิ่น ทำให้ประชาชนในพื้นที่เดือดร้อนมานานหลายปี
พลเอก วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เผยว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้เป็นการลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาเป็นครั้งที่ 2 หลังได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ในกรณีหน่วยงานภาครัฐไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหากลิ่นเหม็นที่เกิดจากโรงงานผลิตและรับซื้อยางพารา 2 แห่ง ในตำบลหนองนาคำ จนเกิดความเดือดร้อนจากกลิ่นเหม็นรบกวนการดำรงชีวิตและกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งที่ผ่านมาได้ติดตามการแก้ไขปัญหาและประชุมร่วมกับจังหวัดอุดรธานี สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี กรมควบคุมมลพิษ การยางแห่งประเทศไทยจังหวัดอุดรธานี ผู้แทนบริษัทผู้ประกอบการโรงงานยางพาราทั้ง 2 แห่ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้น และระยะยาว โดยแนวทางระยะสั้น คือ 1) ภาครัฐต้องส่งเสริมให้เกษตรกรสวนยางใช้กรดฟอร์มิกแทนกรดซัลฟิวริก (กรดกำมะถัน) ในการทำให้น้ำยางจับตัว เพื่อลดปัญหาด้านกลิ่น 2) โรงงานต้องฉีดพ่นสาร EM อย่างต่อเนื่องทุกวัน และต้องปรับปรุงสภาพแวดล้อมด้วยการปลูกไม้ยืนต้นที่เป็นปราการกั้นกลิ่นธรรมชาติโดยรอบโรงงาน รวมถึงการใช้ธรรมชาติบำบัดน้ำเสีย สำหรับมาตรการระยะยาว ขอให้กรมควบคุมมลพิษเสนอและผลักดันให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมออกประกาศเรื่องการกำหนดค่ามาตรฐานความเข้มกลิ่นอากาศเสียจากโรงงานผลิตยาง
ในวันนี้ ลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาร่วมกับนายเทวินทร์ พุ่มอินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดอุดรธานี และนางชลัยรัตน์ ทรัพย์ประชา ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรม ในฐานะผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี รวมถึงผู้แทนการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดอุดรธานี สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดอุดรธานี สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 9 (อุดรธานี) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด อบต.หนองนาคำ ซึ่งจากการประชุมรับฟังสรุปและลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาของทั้ง 2 โรงงาน พบว่า มาตรการระยะสั้นนั้น จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ติดตามแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิดและได้รับความร่วมมือจากโรงงานทั้งสองแห่งเป็นอย่างดีทั้งจากการดำเนินการตามข้อเสนอแนะข้างต้น และการลดสต้อคยาง ทำอาคารเก็บยางพาราระบบปิด เพื่อสนับสนุนการเร่งแก้ปัญหาทุกมิติ เร่งลดปัญหามลพิษจากการผลิตยาง
แต่อย่างไรก็ตาม มติที่ประชุมวันนี้ ได้เสนอแนะเพิ่มเติมในการเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 2 ประเด็น ดังนี้ คือ 1. ขอให้จังหวัดอุดรธานี รณรงค์ให้ความรู้เชิญชวนให้เกษตรกรยางพาราใช้กรดฟอร์มิกแทนกรดซัลฟิวริก นำเสนอข้อดีของสารดังกล่าวที่เป็นกรดอินทรีย์ ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ เปรียบเทียบควบคู่ไปกับการเสนอผลเสียต่อสุขภาพของกรดซัลฟิวริก รวมถึงเพิ่มช่องทางและควรมีการกำหนดนโยบายด้านราคาให้สามารถเข้าถึงกรดฟอร์มิกได้ง่ายขึ้น เหล่านี้จะส่งผลให้เกษตรกรเข้าใจและตระหนักถึงประโยชน์ ตลอดจนเกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาใช้กรดฟอร์มิกอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น
2. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกับผู้ประกอบการ วิจัยพัฒนาสารประกอบร่วมกับกรดฟอร์มิกที่จะสามารถทำให้ยางจับตัวเร็วขึ้นพอๆ กับกรดซัลฟิวริก ไม่เป็นพิษต่อร่างกาย มีราคาที่เป็นธรรม เพื่อใช้ทดแทนกันอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
ส่วนมาตรการระยะยาว ได้มีการบังคับใช้ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดมาตรฐานค่าความเข้มกลิ่นของอากาศเสียที่ปล่อยทิ้งจากโรงงานยาง แล้วตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2563 ซึ่งได้กำหนดค่ามาตรฐานความเข้มของกลิ่นบริเวณริมรั้วหรือขอบเขตแหล่งกำเนิดมลพิษ อยู่ที่ 30 หน่วย และค่ามาตรฐานความเข้มของกลิ่นที่ปล่องระบายอากาศเสียของแหล่งกำเนิดมลพิษมีค่ามาตรฐาน คือ 2,500 หน่วย ซึ่งจะเป็นการยกระดับมาตรฐานกำกับควบคุมโรงงานยางพาราในพื้นที่อื่นๆ ทั้งระบบ
"ต่อจากนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินจะนำปัญหาอุปสรรคที่ได้รับฟังเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงผู้ประกอบการในวันนี้ สรุปนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในส่วนกลางที่ดูแลภาพรวมในเรื่องนี้เพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในเชิงระบบ เพื่อเร่งลดผลกระทบด้านมลพิษ สุขอนามัยของชุมชนในพื้นที่ที่มีการประกอบกิจการโรงงานยางพาราต่างๆ อย่างยั่งยืนต่อไป" พลเอก วิทวัส กล่าว////////////////