ราชภัฎโคราช เททองหล่อ “พระพุทธทศพลญาณ” องค์ใหญ่สูง 9 เมตร
24 ก.ค. 2563, 06:50
วันที่ 23 กรกฎาคม 2563 หม่อมเจ้าฑิฆัมพร ยุคล เสร็จทรงเป็นประธานในพิธีเททองหล่อ “พระพุทธทศพลญาณ” พระพุทธศิลป์นุสรณ์ 100 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา สูง 9 เมตร ณ ลานองค์พระพิฆเนศ อาคาร 26 จัดโดย สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดยมี พระเทพสีมาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยผู้บริหารมหาวิทยาลัย รองศาสตราจารย์ ดร.สามารถ จับโจร ประธานคณะกรรมการดำเนินการจัดสร้างพุทธศิลป์นุสรณ์ฯ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ เอกชน คณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา และพุทธศาสนิกชนเป็นจำนวนมากเข้าร่วมพิธี
รองศาสตราจารย์ ดร.สามารถ จับโจร อาจารย์ประจำสาขาทัศนศิลป์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และเป็นประธานกรรมการดำเนินการฯ เปิดเผยว่า การจัดสร้างพระฯ นั้น เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี
การก่อตั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ที่จะเวียนมาบรรจบครบรอบในปี 2566 มหาวิทยาลัยได้มีมติในการจัดสร้างพระพุทธศิลป์นุสรณ์ เพื่อประดิษฐาน ณ ลานธรรมเฉลิมพระเกียรติฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ทรงประทานนาม
องค์พระพุทธศิลป์นุสรณ์ 100 ปี ว่า “พระพุทธทศพลญาณ” อ่านว่า “พระ-พุด-ทะ-ทด-สะ-พน-ละ-ยาน” แปลว่า พระพุทธเจ้าผู้มีพระญาณเป็นกำลัง 10 ประการ เพื่อเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวศูนย์รวมจิตใจของคณาจารย์ นักศึกษา บุคลากรภายในมหาวิทยาลัย และประชาชนทั่วไป
“พระพุทธทศพลญาณ” เป็นพระพุทธรูปปางลีลา ขนาดความสูง 9 เมตร (รวมฐาน) หล่อด้วยวัสดุโลหะรมดำ คาดว่าจะใช้งบประมาณดำเนินการประมาณ 15 ล้านบาท โดยงบประมาณเริ่มต้นจากการระดมทุนจัดประมูลผลงานศิลปะของศิลปินแห่งชาติและศิลปินนานาชาติ ตามโครงการสร้างสรรค์ผลงานศิลปกรรม “13 ศิลปินเยือนถิ่นโคราช” เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2561 โดยมี นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นประธานการระดมทุน ได้ยอดเงินรวม 3.65 ล้านบาท
สำหรับ “ลานธรรมเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา สถานที่ประดิษฐานองค์พระพุทธศิลป์นุสรณ์ฯ นั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เคยเสด็จพระราชดำเนิน เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2507 จึงถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ หากได้องค์พระพุทธรูปขนาดใหญ่และสวยงามมาประดิษฐาน เชื่อว่าจะเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนชาวไทยและเป็นแลนด์มาร์กแหล่งท่องเที่ยวทางพุทธธรรมแห่งใหม่ของจังหวัดนครราชสีมาได้เป็นอย่างดี ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการดำเนินงานจัดสร้างพุทธศิลป์นุสรณ์ให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ ประมาณ 2-3 ปี รศ.ดร.สามารถ กล่าว.
กัญศลักษณ์ รุ่งสุขประเสริฐ-ผู้สื่อข่าวภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา