"ผู้ว่าฯเพชรบูรณ์" มอบหมายให้ "รองผู้ว่าฯ" เปิดโครงการรวมพลังสตรีเพชรบูรณ์ สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน
24 ก.ค. 2563, 08:59
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสืบศักดิ์ เอี่ยมวิจารณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ มอบหมายให้นายนิเวศน์ หาญสมุทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการรวมพลังสตรีเพชรบูรณ์ สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน โดยมีนางวาสนา ธีรนิติ ประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์โครงการฯ
คณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัดเพชรบูรณ์ ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเพชรบูรณ์ ดำเนินการขับเคลื่อนกิจกรรม "รวมพลังสตรีเพชรบูรณ์ สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน" เพื่อเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย อนุรักษ์ผ้าไทย ให้คงอยู่คู่แผ่นดิน และเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการ OTOP โดยจังหวัดเพชรบูรณ์ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ ผู้แทนสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2563 ณ บริซฮิลล์รีสอร์ท อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการสืบสาน อนุรักษ์ผ้าพื้นถิ่นจังหวัดเพชรบูรณ์ให้ประสบผลสำเร็จ และเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ผ้าพื้นถิ่นจังหวัดเพชรบูรณ์ ให้เป็นที่รู้จักและเชิดชูเกียรติ แก่ผู้สืบทอดภูมิปัญญาผ้าพื้นถิ่นจังหวัดเพชรบูรณ์ และยังมีมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย ส่งเสริมให้ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ สวมใส่ผ้าไทยสัปดาห์ละ 2 วัน ได้แก่ วันอังคารและวันศุกร์ เพื่อให้ผ้าพื้นถิ่นจังหวัดเพชรบูรณ์สามารถจำหน่ายและแข่งขันในตลาดได้อย่างยั่งยืน คณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัดเพชรบูรณ์ จึงได้จัดทำโครงการรวมพลังสตรีเพชรบูรณ์สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี โดยมีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้
1) เพื่ออนุรักษ์ผ้าพื้นถิ่นจังหวัดเพชรบูรณ์
2) เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การใช้และสวมใส่ผ้าไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง
3) เพื่อเชิดชูเกียรติแก่ผู้สืบทอดภูมิปัญญาผ้าพื้นถิ่นจังหวัดเพชรบูรณ์
4) เพื่อสร้างรายได้ให้แก่องค์กรสตรีจังหวัดเพชรบูรณ์ที่ทอผ้าและผลิตเครื่องแต่งกายด้วยผ้าทอพื้นเมือง
โครงการรวมพลังสตรีเพชรบูรณ์สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน จังหวัดเพชรบูรณ์ มีกิจกรรมการจัดแสดงและจำหน่ายผ้าพื้นถิ่น และประกวดผ้าพื้นถิ่น ของทั้ง 11 อำเภอ โดยมีผ้าที่ส่งเข้าประกวด จำนวน 4 ประเภท ดังนี้
1) ผ้าเอกลักษณ์ หมายถึง ผ้าที่จังหวัดได้ประกาศเป็นผ้าประจำจังหวัด ได้แก่ ซิ่นหมี่คั่นน้อยไทหล่ม มีผู้ส่งเข้าประกวดจำนวน 8 ราย และผ้ามุก มีผู้ส่งเข้าประกวดจำนวน 4 ราย
2) ผ้าชาติพันธุ์ หมายถึง ผ้าที่ผลิตโดยชนเผ่าในจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้แก่ ม้ง ลีซู (ลีซอ) ไทยทรงดำ (ชุดเสื้อสุภาพบุรุษ สุภาพสตรี) มีผู้ส่งเข้าประกวดจำนวน 3 ราย
3) ผ้าที่ผลิตในท้องถิ่น ได้แก่ ผ้ามัดหมี่ มีผู้ส่งเข้าประกวดจำนวน 14 ราย รวมผู้ที่ส่งเข้าประกวดจำนวน 26 ผืน ชุดชาติพันธุ์ จำนวน 3 ชุด รวม 29 ชิ้น