ทส.เปิดโครงการปลูกป่า- ป้องกันไฟป่าเฉลิมพระเกียรติ ร.10 นำร่องป่าชายเลนนครศรีธรรมราช
24 ก.ค. 2563, 13:36
วันที่ 24 ก.ค.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณพื้นที่ป่าชายเลน หมู่ 9 ต.ท่าซัก อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช นางสุวรรณรา เดียร์สุวรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานโครงการปลูกป่าและป้องกันไฟป่าเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 ก.ค.63 มีนายอภิชัย เอกวนากุล ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน รร ท.อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง,นายอาคม ยุทธนา ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมคณะผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชน จิตอาสาพระราชทาน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนในพื้นที่ เข้าร่วมโครงการจำนวนมาก
นางสุวรรณา กล่าวว่า ทางกรม ทช.ดำเนินการเลือกพื้นที่จัดโครงการปลูกป่าและป้องกันไฟป่าเฉลิมพระเกียรติ บริเวณ อ.เมือง อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช จำนวน 3แปลง บนเนื้อที่ 110ไร่ ซึ่งกำหนดเปิดพร้อมกันทั่วประเทศในวันนี้(24กค.) กำหนดเป้าหมายพื้นที่ปลูกป่าชายเลนออกเป็น 3 ระยะ คือระยะเร่งด่วน ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 28 ก.ค.2563 ระยะที่ 2 ดำเนินการระหว่าง 29 ก.ค.2563 – 28 ก.ค.2565 ปลูกป่าชายเลนจำนวน 20,000 ไร่ เฉพาะพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช จำนวน 2,890 ไร่ และระยะที่ 3 ดำเนินการระหว่าง 28 ก.ค.2565 – 28 ก.ค.2570 ปลูกและฟื้นฟูป่าชายเลน จำนวน 133,290ไร่ ท้องที่ 23จังหวัด
ทั้งนี้ กรม ทช.เลือกพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่ปลูกป่าชายเลน เพื่ออนุรักษ์ที่ยั่งยืน โดยจังหวัดนครศรีธรรมราช ถือว่าเป็นเมืองที่น่าอยู่ สำหรับคนในท้องถิ่นและเป็นเมืองที่น่ามาเยือนสำหรับคนต่างถิ่น สำหรับแปลงปลูกป่าของโครงการดังกล่าวจะกลายเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ หลังโครงการนี้สำเร็จแล้ว พื้นที่ป่าชายเลนจะกลายเป็นที่อยู่อาศัย แหล่งหลบภัย แหล่งอนุบาลของสัตว์น้ำ รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของชาวนครศรีธรรมราชอีกด้วย รวมทั้งเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนในพื้นที่ร่วมช่วยกันดูแล ปกป้อง รักษาป่าชายเลนเหล่านี้ให้คงอยู่ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นการฝึกอบรมให้เจ้าหน้าที่และประชาชนในพื้นที่ ได้เรียนรู้ถึงกระบวนการป้องกัน และดับไฟป่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้น เพื่อลดปัญหาที่ร้ายแรงจากสถานการณ์ดังกล่าว อันก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทรัพยากรป่าชายเลนต่อไป.