ขอเชิญร่วมโครงการปลูกข้าวเหนียวเลี้ยงช้าง “ปลูกวันแม่ เกี่ยววันพ่อ”
24 ก.ค. 2563, 19:20
“ปลูกวันแม่ เกี่ยววันพ่อ” โครงการปลูกข้าวเหนียวเลี้ยงช้าง เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม 2563 ในวันอาทิตย์ที่ 9 สิงหาคม 2563 ระหว่างเวลา 10.00 น. - 12.00 น. สถานที่ หมู่บ้านช้าง ของปางช้างแม่สา (บ้านโต้งหลวงเดิม) ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากปัจจุบันปางช้างแม่สา มีช้างเลี้ยงอยู่จำนวน 76 เชือก มีการนำหญ้าชนิดต่าง ๆ เช่น หญ้าเนเปีย หญ้าตองก๋ง และหญ้าแขม มาเลี้ยงช้างในแต่ละวันจำนวน 12-15 ตันเพื่อใช้เป็นอาหารหลักของช้าง คิดเป็นจำนวน 70% และยังเลี้ยงช้างด้วยอาหารเสริมอีกจำนวน 30% อาหารเสริมของช้างมีข้าวเหนียวปั้นก้อนใส่เกลือ กล้วย อ้อย ผลไม้ต่าง ๆ สมุนไพร และอาหารเม็ด ดังนั้นเราจึงต้องการข้าวเหนียวที่นำมานึ่งเลี้ยงช้างเป็นปริมาณมากในแต่ละปี โดยเฉลี่ย มีการนึ่งข้าวเหนียววันละ 1 กระสอบ
ดังนั้นในปี 2563 นี้ ปางช้างแม่สาจึงมีโครงการปลูกข้าวเหนียวเลี้ยงช้าง เพื่อลดค่าใช้จ่ายภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และปางช้างแม่สาได้ปิดกิจการชั่วคราว เมื่อรัฐบาลประกาศปลดล็อคระยะที่ 4 จึงได้เปิดกิจการขึ้นมาใหม่แบบ New Normal งดการแสดงของช้าง และการนั่งช้างบนแหย่ง หันมาทำการปลดโซ่ ปลดแหย่ง เลี้ยงช้างอย่างเป็นอิสระตามธรรมชาติมากขึ้น รวมถึงมีแนวความคิดที่จะทำการปลูกข้าวเหนียวในพื้นที่นาข้าวจำนวน 5 ไร่ของปางช้างแม่สา ซึ่งนำเอาข้าวเหนียวพันธุ์สันป่าตองมาปลูก เริ่มต้นจากการไถนาและหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวลงไป เพื่อให้ได้ต้นกล้า พร้อมที่จะลงปลูกในวันที่ 9 สิงหาคม 2563 โดยมีชนเผ่าที่เลี้ยงช้างอยู่แล้วเข้าร่วมดำนาปลูกข้าวด้วยจำนวนสองชนเผ่าคือ 1. เผ่าดาราอังหรือปะหล่อง 2. เผ่ากระยอ (กระเหรี่ยง) รวมจำนวน 20 คน และควาญช้างอีกจำนวนหนึ่ง กิจกรรมในครั้งนี้มีไฮไลต์คือการนำช้างปลดโซ่เข้าร่วมกิจกรรมทำนาปลูกข้าวเพื่อเป็นอาหารของช้างในวันดังกล่าวอีกกว่า 10 เชือก ท่ามกลางบรรยากาศอันสวยงามของพื้นที่ และจะทำการเกี่ยวข้าวอีกครั้งในเดือนธันวาคม 2563 งานในวันที่ 9 สิงหาคม 2563 มีกำหนดการดังนี้
09.30 น. ขอเชิญมาพร้อมกันที่บริเวณนาข้าว หมู่บ้านช้าง ของปางช้างแม่สา
10.00 น. ลงดำนา ปลูกต้นกล้า พร้อมกัน โดยมีช้าง ลงย่ำในนาข้าวด้วย
11.00 น. ถ่ายภาพร่วมกันเป็นที่ระลึก
11.30 น. รับประทานอาหารกลางวัน ข้าวเหนียวห่อใบตอง และกับข้าวพื้นบ้าน โดยจะเน้นการใช้วัสดุจากธรรมชาติ และกินข้าวด้วยกันกลางทุ่งนา