ศาลฎีกาฯนักการเมือง พิพากษาจำคุก "ทักษิณ" 5 ปี คดีเอื้อชินคอร์ป
30 ก.ค. 2563, 17:45
วันนี้ ( 30 ก.ค.63 ) ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาคดีที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือ นายทักษิณ ชินวัตร เรื่องความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม โดยคดีดังกล่าวยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2541 ว่า ระหว่างวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 ถึงวันที่ 19 กันยายน 2549 ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสองวาระติดต่อกัน กระทำความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ.2542 มาตรา 100 โดยการเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทชิน คอร์ปอเรขั่น จำกัด (มหาชน) หรือบริษัทชินคอร์ป ซึ่งเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ โดยให้บุคคลอื่นมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นแทน และกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 , 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริต มีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นในกิจการโทรคมนาคม
ระหว่างพิจารณา จำเลยหลบหนี ศาลสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว ต่อมา มีการประกาศใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 ให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีอำนาจพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย ศาลจึงยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ต่อไป และอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยในวันนี้
ศาลวินิจฉัยในสาระสำคัญว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 100 (2) ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่เข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ ขณะจำเลยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสองวาระ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จำเลยยังคง เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทชินคอร์ป ซึ่งเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ โดยให้บุคคลอื่นมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นแทน อันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม และฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จำเลยให้บุคคลอื่นเป็นผู้ถือหุ้นแทนต่อเนื่องมาโดยตลอด เพียงแต่ในช่วงเวลาดังกล่าวจำเลยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสองวาระติดต่อกัน ถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาเดียว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดกรรมเดียว
ศาลยังวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตามกฏหมาย ได้หมดนโยบายและสั่งการให้ประกาศพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 4 ) พ.ศ.2546 และพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 พ.ศ.2546 เพื่อจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งได้รับสัมปทานจากรัฐ โดยคณะรัฐมนตรีที่จำเลยเป็นหัวหน้ารัฐบาลมีมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ ออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องลดอัตราภาษีและยกเว้นภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 68 ) ลงวันที่ 28 มกราคม 2546 ให้ลดพิกัดอัตราและยกเว้นภาษีสรรพสามิต สำหรับกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่จากอัตราร้อยละ 50 เหลือร้อยละ 10 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546 เห็นชอบแนวทางให้คู่สัญญาเอกชนนำภาษีสรรพสามิตมาหักออกจากส่วนแบ่งรายได้ค่าสัมปทานที่คู่สัญญาภาคเอกชนจะต้องนำส่งให้คู่สัญญาภาครัฐได้ จำเลยดำเนินการดังกล่าวเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือบริษัทเอไอเอส ซึ่งได้รับสัมปทานดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ จากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยหรือ ทศท.และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด ซึ่งได้รับสัมปทานดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่จากการสื่อสารแห่งประเทศไทย หรือ ทศท.โดยทั้งสองบริษัทเป็นบริษัทในเครือของบริษัทชินคอร์ป ซึ่งจำเลยเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ให้ทั้งสองบริษัทได้รับคืนเงินภาษีสรรพสามิตที่ชำระแล้ว โดยมีสิทธิ์นำไปหักออกจากค่าสัมปทาน เป็นผลให้ ทศท.และ กสท. ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการมีส่วนได้เสีย ในกิจการโทรคมนาคม อันเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ พิพากษาว่ามีความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป โดยองค์คณะผู้พิพากษามติเสียงข้างมาก ให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ จำคุก 2 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเอง จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 5 ปี
ให้นับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษจำคุกของจำเลย ในคดีหมายเลขแดงที่ อม.4/2551 และคดีหมายเลขแดงที่ อม.10/2552 ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อันหนึ่งวันนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ออกหมายจับจำเลยมาเพื่อบังคับตามคำพิพากษาแล้ว