"บิ๊กป้อม" ลงใต้ติดตามศูนย์ PIPO แก้ปัญหาประมง-ค้ามนุษย์ วางเป้าขึ้นเทียร์ 1 ปีนี้
31 ก.ค. 2563, 17:24
วันนี้ ( 31 ก.ค.63 ) เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุมมณฑลทหารบกที่ 42 (ค่ายเสนาณรงค์) อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ตรวจติดตามการปฏิบัติงานของศูนย์ PIPO การตรวจสอบแรงงานในภาคประมงและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยรับฟังบรรยายสรุปผลการปฏิบัติงานของศูนย์ PIPO จากนายวัชรินทร์ รัตนชู ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการเรือประมงและการทำประมงและรับฟังบรรยายสรุปผลการปฏิบัติงานการปราบปรามการค้ามนุษย์ จากรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9
ภายหลังรับฟังบรรยายสรุป พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตั้งใจมาติดตามสถานการณ์และความก้าวหน้าในการดำเนินงานของหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ และเป็นตัวแทนรัฐบาลมาแสดงความขอบคุณ พร้อมให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงานที่มีส่วนร่วมในความสำเร็จของนโยบายสำคัญของรัฐบาล 2 ด้าน ที่ตนเองได้กำกับดูแลตลอด 6 ปีที่ผ่านมา จนสหภาพยุโรปประกาศปลดใบเหลืองเป็นใบเขียวให้กับประเทศไทย ซึ่งจะต้องดำเนินการอย่างจริงจังและอย่างต่อเนื่อง เพราะถ้ารักษามาตรฐานไว้ไม่ได้ สหภาพยุโรปก็จะกลับมาให้ใบเหลืองอีก สำหรับเรื่องการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในปีนี้ต้องทำให้ดีกว่าเดิม โดยตั้งเป้าหมายต้องขึ้นเทียร์ 1 ให้ได้
รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จากที่ได้รับฟังการบรรยายสรุป จะเห็นได้ว่าสถานการณ์ด้านการประมงผิดกฎหมาย การบังคับใช้แรงงานในภาคประมง และปัญหาการค้ามนุษย์ในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งอยู่ในพื้นที่เป้าหมาย 22 จังหวัดชายทะเลดีขึ้นตามลำดับ โดยเน้นย้ำให้ปฏิบัติเพิ่มเติม ดังนี้ ด้านนโยบายการประมงแห่งชาติ เน้นย้ำความสำคัญของศูนย์ไปโป (PIPO) ในการควบคุมตรวจสอบการเข้าออกท่าเทียบเรือของเรือประมงก่อนและหลังการทำประมง เจ้าหน้าที่ต้องตรวจสอบความถูกต้องของเรือ คนประจำเรือ เครื่องมือการทำประมง สัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมงและเอกสารต่าง ๆ เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นการทำประมงที่ถูกกฎหมาย ในส่วนของการตรวจสอบแรงงานในภาคประมง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว 4 สัญชาติ ได้แก่ เมียนมา กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ขอให้ตรวจตรา มิให้มีการรับแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง โดยไม่ผ่านมาตรการคัดกรองในสถานกักตัวที่รัฐจัดให้ และไม่ผ่านการตรวจเชื้อไวรัสโควิด 19 เข้าทำงานอย่างเด็ดขาด
พร้อมมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เร่งสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ต่อชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐบาล ซึ่งตนเองได้เร่งรัดให้การเยียวยา ผ่านโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องฯ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 วงเงินสินเชื่อ 10,300 ล้านบาท และให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ใช้กลไกการทำงานของศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) จังหวัด ตั้งคณะทำงานเพื่อสนับสนุนภารกิจในการตรวจสอบประวัติเรือ และเจ้าของเรือประเมินราคา ทำลายและจ่ายค่าชดเชยเรือประมง เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการนำเรือออกนอกระบบฯ ตามนโยบายของรัฐบาลระยะที่ 1 จำนวน 305 ลำ ทั้งนี้ ให้กรมประมง และกรมเจ้าท่า เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 63 นี้ สำหรับส่วนที่เหลือ จำนวน 263 ลำ ให้เร่งดำเนินงานให้มีความก้าวหน้า
ในด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่ารัฐบาลให้ความสำคัญ ประกาศเป็นวาระแห่งชาติ ขอให้ตำรวจ ฝ่ายปกครอง แรงงาน พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กองทัพเรือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพิ่มเติมดังนี้ สกัดกั้นการลักลอบพาคนต่างด้าวเข้าเมืองของขบวนการค้ามนุษย์ ผ่านช่องทางทั้งทางน้ำและช่องทางธรรมชาติ บริเวณตะเข็บชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยห้ามมิให้มีเจ้าหน้าที่เข้าไปมีส่วนรู้เห็นกับขบวนการนำพาและนักค้ามนุษย์ หากฝ่าฝืนจะดำเนินการทั้งทางวินัยและทางอาญาอย่างเด็ดขาด พร้อมย้ำเตือนว่าในระหว่างการใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม พบว่ามีการใช้สื่อสังคมออนไลน์ เป็นเครื่องมือในการกระทำผิดของขบวนการค้ามนุษย์ เพื่อแสวงหาประโยชน์ทางเพศต่อเด็กและเยาวชนเพิ่มมากขึ้น ขอให้เพิ่มความเข้มข้นในการสืบสวนปราบปรามบนสื่อสังคมออนไลน์
ตอนท้าย รองนายกรัฐมนตรีขอให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวัง ในช่วงที่รัฐบาลเพิ่มมาตรการผ่อนปรน โดยยึดมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม และมาตรการทางสาธารณสุข เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบที่ 2 และขอเป็นตัวแทนรัฐบาลขอบคุณเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกฝ่าย ที่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาล ในการแก้ไขสถานการณ์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 จนประสบผลสำเร็จ เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ซึ่งองค์การอนามัยโลกยกเป็นตัวอย่างที่ดีของโลก สร้างความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยมีระบบสาธารณสุขที่ดี มีความปลอดภัย