เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



รศ.ดร.สังศิต สั่ง อปท. 13 แห่ง ลุยพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กอย่างเป็นระบบ


2 ส.ค. 2563, 13:35



รศ.ดร.สังศิต สั่ง อปท. 13 แห่ง ลุยพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กอย่างเป็นระบบ




วันที่ 2 สิงหาคม 2563 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ที่ห้องประชุม อบจ.สกลนคร รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะ กมธ.แก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมลํ้า วุฒิสภา นำคณะลงมาพูดคุยกับผู้บริหาร อปท.13 แห่ง ที่อยู่รอบทะเลสาบหนองหาร โดยต้องการที่จะนำน้ำไปใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ในการพูดคุยครั้งนี้ มีนายมนต์สิทธิ์ ไพศาลีธนวัฒน์ ผวจ.สกลนคร นายชัยมงคล ไชยรบ นายก อบจ.สกลนคร นำผู้บริหาร อปท.และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมรับฟังกว่า 100 คน ซึ่ง รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ กล่าวว่า มาที่จังหวัดสกลนคร มีจุดมุ่งหมายสำคัญ 2 ประการก็คือ อยากจะให้มีการพัฒนาหนองหาร ซึ่งทุกวันนี้เป็นแหล่งน้ำที่เน่าเสียไปแล้ว แล้วที่สำคัญการประปาก็เอาน้ำไปให้ประชาชนได้ใช้  ซึ่งน้ำในหนองหารสกปรก จึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้ อบจ.รวมทั้ง ผวจ. ตลอดจนหน่วยงานต่าง ๆ มาช่วยกันดูแลแก้ไขปัญหา "คิดว่าถ้าหากว่าเราให้ อปท. ทั้ง 13 แห่ง ที่อยู่บริเวณรอบหนองหาร รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ของตัวเองได้ ด้วยการกักเก็บน้ำตั้งแต่ต้นทางที่จะไหลลงไปหนองหาร อย่างเช่นที่ ทต.เชียงเครือ กำลังทำ ก็จะทำให้ตะกอนที่จะตกลงไปในหนองหารน้อยลง แล้วก็จะทำให้น้ำในหนองหารเป็นน้ำที่สะอาดในอนาคต อาจจะต้องใช้เวลา 3-4 ปี แต่ถ้าเราเริ่มตั้งแต่วันนี้ หนองหารก็จะเป็นแหล่งน้ำที่พี่น้องประชาชนสามารถจะใช้น้ำในการอุปโภคบริโภคได้ แล้วก็อาจจะนำไปใช้ในการผลิตเพื่อการเกษตรได้อีกด้วย

รศ.ดร.สังศิต กล่าวอีกว่า อีกจุดมุ่งหมายก็คือ ต้องการจะมาดูแล แนะนำเกี่ยวกับแหล่งน้ำขนาดเล็ก อย่างเช่น ทำฝายแกนซอยซีเมนต์ เพื่อที่จะดักน้ำจากต้นทางที่จะลงไปที่หนองหารเป็นช่วง ๆ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ เกษตรกรก็จะได้น้ำใช้กันทั้งปี ทำให้พวกเขามีอาชีพ ทำงานได้ทั้งปี แทนที่จะมีโอกาสแค่ฤดูฝนฤดูกาลเดียว ถ้าหากว่ามีโอกาสใช้น้ำได้ตลอดปี พวกเขาก็จะมีอาชีพทั้งปี มีรายได้ทั้งปี แล้วก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งเราอยากจะให้มีการสร้างฝายแกนซอยซีเมนต์ กักเก็บน้ำในส่วนที่ไหลลงไปที่แม่น้ำโขง เราไม่ควรจะสูญเสียน้ำไปโดยเปล่าประโยชน์ ในประเทศไทยเหมือนกันหมด ก็คือมีน้ำฝนตกลงมามากเพียงพอสำหรับประชาชน แต่ว่าความสามารถของเราในการกักเก็บน้ำนั้นไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณน้ำที่ตกลงมาจากฟ้า ทำให้เราสูญเสียโอกาสไปนี้เป็นจำนวนมาก "ฉะนั้นโครงการแหล่งน้ำขนาดเล็กแบบนี้ ชาวบ้านเขาสามารถทำเองได้บำรุงรักษาดูแลเองได้ ใช้งบประมาณน้อย ใช้เวลาทำน้อย แล้วก็เห็นผลทันที ใช้เวลาอย่างมากที่สุด เช่น ฝายแกนซอยซีเมนต์ตัวนี้ อย่างมากที่สุดก็ไม่เกิน 3 วัน 7 วัน ประชาชนก็จะได้น้ำใช้ตลอดปี นี่ก็เป็นความตั้งใจที่เราอยากจะมาเผยแพร่ความรู้ประสบการณ์ต่าง ๆ ให้กับพี่น้องเกษตรกร รวมทั้ง นายก อบจ. ผู้บริหารท้องถิ่น ที่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำ แล้วก็สามารถจะมีน้ำใช้ตลอดปีได้อย่างไร นี้ก็เป็นความตั้งใจของพวกเรา









Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.