หวั่นซ้ำรอย!! นายก อบต.ไล่โว่ ลงพื้นที่บ้านสะเนพ่อง ติดตามสถานการณ์น้ำในลำห้วยโรคี่
3 ส.ค. 2563, 19:18
วันนี้ ( 3 ส.ค. 2563) ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ที่บ้านสะเนพ่อง หมู่ที่ 1 ไล่โว่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ซึ่งอยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ชาวบ้านได้จัดเวรยามมาคอยเฝ้าระวังระดับน้ำในลำห้วยโรคี่ ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยวิธีการนำไม้มาปักไว้เพื่อติดตามการขึ้นลงของระดับน้ำ โดย 2 วันที่ผ่านมา มีฝนตกอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ โดยเฉพาะเมื่อคืนที่ผ่านมา ส่งผลให้น้ำในลำห้วยโรคี่ เริ่มมีสีขุ่นโคลน ระดับน้ำสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งมีเศษกิ่งไม้และสวะ ไหลลงมาเป็นระยะๆ
โดย นายสมชาย วุฒิพิมลวิทยา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลไล่โว่ พร้อมด้วยสมาชิก อบต.บ้านสะเนพ่อง และผู้นำชุมชน ได้เดินทางมายังบริเวณท่าน้ำวัดสะเนพ่อง ก่อนจะเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า เมื่อวันที่ 2 ส.ค.63 ที่ผ่านมา นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี/ผู้อำนวยการจังหวัด ได้มีหนังสือด่วนที่สุดถึง ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 17 /ประชาสัมพันธ์จังหวัดกาญจนบุรี/นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี/ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์ เขต 8/ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาญจนบุรีผู้อำนวยการแขวงทางหลวงกาญจนบุรี/ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงชนบทกาญจนบุรี/ผู้อำนวยการสำนักงานจ้าท่าภูมิภาค สาขากาญจนบุรี/ผู้อำนวยการโครงการชลประทานกาญจนบุรี/เกษตรและสหกรณ์จังหวัดกาญจนบุรี/เกษตรจังหวัดกาญจนบุรี/ประมงจังหวัดกาญจนบุรี /นายอำเภอทุกอำเภอ/นายกเทศมนตรีเมืองทุกแห่ง โดยหนังสือดังกล่าวระบุว่า ด้วยกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง กอปรกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 1(142/2563) ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 เวลา 11.00 น. แจ้งว่า หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นดีเปรสชันแล้ว และกำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อย คาดว่าจะเคลื่อนตัวผ่านเกาะไหหลำ สาธารณรัฐประชาชนจีน และจะขึ้นฝั่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามตอนบน
โดยพายุนี้ไม่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย ประกอบมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ สำหรับพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ ระหว่างวันที่ 31 ก.ค. - 4 ส.ค.63 โดยมีพื้นที่ภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี สมุทรสงคราม นครนายก ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ดังนั้น เพื่อเป็นการตรียมพร้อม รับสถานการณ์ผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มซึ่งจะมีผลกระทบระหว่างวันที่ 31 ก.ค.ถึงวันที่ 4 ส.ค. จึงขอให้อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมรับมือหากเกิดสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่
เพื่อเตรียมความพร้อมจึงลงพื้นที่มาดูสถานการณ์น้ำที่บ้านสะเนพ่อง เนื่องจากที่นี่เป็นพื้นที่เสี่ยงที่เคยประสบเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ในปี พ.ศ. 2561 โดยในพื้นที่ตำบลไล่โว่มี 2 หมู่บ้านที่เป็นพื้นที่เสี่ยงได้แก่บ้านสะเนพ่องหมู่ที่ 1 และบ้านเกาะสะเดิ่ง หมู่ที่ 2 โดยหากเกิดน้ำท่วมในปีนี้ทาง อบต.พร้อมอพยพชาวบ้านขึ้นที่สูงและอพยพ เด็กและสตรีรวมทั้งผู้สูงอายุไปอาศัยชั่วคราวที่ อบต. ทั้งนี้ได้บูรณาการการทำงานเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายปกครอง ทหาร ป่าไม้รวมทั้ง ป้องกันภัยจังหวัด ซึ่งเราพร้อมเข้าช่วยเหลือและอพยพชาวบ้านทันที หากเกิดอุทกภัย ในพื้นที่ 2 หมู่บ้านที่เป็นพื้นที่เสี่ยง
ด้านนายเกรียงศักดิ์ กฤติยาตระกูล ผช.ผญบ.บ้านสะเนพ่อง เปิดเผยว่า ในเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2561 ระดับน้ำในหมู่บ้านสูงกว่า 1 เมตร โดยน้ำในลำห้วยโรคี่ ได้ไหลทะลักเข้าไปในหมู่บ้านบริเวณท่าน้ำหลังวัดสะเนพ่อง ก่อนกระแสน้ำที่ไหลแรงในเช้าวันนั้นได้ไหลเข้าไปสร้างความเสียหายให้แก่บ้านเรือนของชาวบ้าน จนชาวบ้านต้องหนีขึ้นไปอยู่บนที่สูง ก่อนทางการจะเข้ามาช่วยเหลือและอพยพไปอยู่ที่ ศูนย์พักพิงชั่วคราว ที่ที่ทำการ อบต.ไล่โว่
ด้วยเหตุนี้ในช่วงเวลาที่มีฝนตกหนักติดต่อกันเช่นนี้ ทางผู้นำชุมชนจึงได้จัดเวรยามมาเฝ้าสังเกตการณ์ระดับน้ำบริเวณท่าน้ำหลังวัดสะเนพ่อง โดยการนำไม้มาปักไว้บริเวณริมน้ำเพื่อติดตามระดับน้ำที่ขึ้นลง โดยเฉพาะในช่วงกลางคืน ซึ่งหากพบว่าระดับน้ำมีแนวโน้มที่จะไหลเข้าหมู่บ้านก็จะมีการประกาศเสียงตามสายให้ชาวบ้านอพยพขึ้นที่สูงทันที
โดยสถานการณ์ฝนที่ยังตกอย่างต่อเนื่อง บ้านสะเนพ่องจึงเป็นอีก 1 จุดเสี่ยง ที่ทุกหน่วยงานต้องเฝ้าจับตาและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อพร้อมในการช่วยเหลือ เนื่องจากที่นี่เป็นพื้นที่ห่างไกล รถไม่สามารถเข้าถึง ทำให้หากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2561 การช่วยเหลือชาวบ้านที่นี่จะเต็มไปด้วยปัญหาและอุปสรรค ซึ่งกำลังเป็นความท้าทายของทุกหน่วยงานในพื้นที่