เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



หมอธีระ เตือนโควิด - 19 ติดง่ายกว่าไข้หวัดใหญ่ 3 เท่า ยังไม่มียารักษามาตรฐาน


11 ส.ค. 2563, 14:51



หมอธีระ เตือนโควิด - 19 ติดง่ายกว่าไข้หวัดใหญ่ 3 เท่า ยังไม่มียารักษามาตรฐาน




 

(11 ส.ค. 63) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กของตัวเอง (Thira Woratanarat)โดยเผยถึงสถานการณ์ทั่วโลกวันนี้ ซึ่งมีใจความสำคัญว่า

“สถานการณ์ทั่วโลกล่าสุด 11 สิงหาคม 2563
ทะลุ 20 ล้านไปแล้วตั้งแต่เมื่อวานตอนสายๆ คงพอบอกได้ว่าเป็นวันที่ 10.5 สิงหาคม 2563 เมื่อวานติดเพิ่มอีก 222,459 คน ตายเพิ่ม 4,359 คน ยอดรวมตอนนี้ 20,204,334 คน

อเมริกา ติดเพิ่ม 46,905 คน รวม 5,238,927 คน
บราซิล ติดเพิ่ม 22,048 คน รวม 3,057,470 คน
อินเดีย ติดเพิ่ม 53,016 คน รวม 2,267,153 คน
รัสเซีย ติดเพิ่ม 5,118 คน รวม 892,654 คน

แอฟริกาใต้ เม็กซิโก เปรู ติดกันเพิ่มตั้งแต่สี่ถึงเจ็ดพันคน

สเปน เยอรมัน อิหร่าน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น ยังลำบากกับการระบาดวันนึงหลักพันกว่าถึงหลายพันคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟิลิปปินส์ที่ปาเข้าไป 6,725 คน

ข่าวที่เมืองไทยนำเข้าคุณครูสอนภาษาจากฟิลิปปินส์จำนวนมากนั้น เอาใจช่วยขอให้ทุกคนไม่ติดเชื้อนะครับ เรื่องที่อยากฝากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รู้และตระหนักคือ การกักตัว 14 วันยังอาจมีโอกาสหลุดได้ เพราะรายงานทางการแพทย์เคยพบว่าผู้ติดเชื้ออาจสามารถนำพาเชื้อได้นานกว่านั้น นอกจากนี้ในกรณีที่มีประวัติติดเชื้อและได้รับการรักษาจนตรวจจากทางเดินหายใจไม่เจอแล้วก็ตาม ยังมีการวิจัยที่สามารถพบเชิ้อไวรัสที่มีชีวิตในปัสสาวะ และอุจจาระได้อีกนานหลายสัปดาห์ ดังนั้นถ้ามาจากประเทศเสี่ยงมากๆ อยากเรียนแนะนำว่า พ้นระยะกักตัว 14 วันแล้ว ควรพักอยู่ที่บ้านอีกสัก 2 สัปดาห์ อย่าเพิ่งไปตะลอน รวมแล้วเป็น 1 เดือน แล้วค่อยไปเริ่มทำงาน น่าจะดีกว่าครับ

หลายประเทศในยุโรป รวมถึงแคนาดา ปากีสถาน สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ติดเพิ่มกันวันละร้อยถึงหลายร้อยคน บางประเทศเกือบพัน เกาหลีใต้ จีน ฮ่องกง มาเลเซีย ยังเกาะติดกับหลักสิบ ส่วนเวียดนามหลักหน่วย

 



 

ขอเรียนย้ำให้เราทุกคนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันตัวอยู่เสมอนะครับ ข้อมูลจากสื่อมวลชนเมื่อวานชี้ให้เราเห็นว่า กลุ่มเสี่ยงต่อโรค COVID-19 ในเมืองไทย เช่น ผู้ป่วยที่มีปอดอักเสบ ยังได้รับการตรวจคัดกรองหาโรค COVID-19 น้อยกว่าครึ่ง นั่นแปลว่า จริงๆ แล้วการที่ไม่มีรายงานเคสติดเชื้อในประเทศมายาวนานหลายเดือน อาจไม่ใช่สถานการณ์จริง

มีความเป็นไปได้สูง ที่มีคนติดเชื้ออยู่ในประเทศ แต่อย่างที่บอกไปหลายครั้งว่า 20% จะไม่มีอาการ 65% จะมีอาการน้อยคล้ายหวัดหรือหวัดใหญ่ ซึ่งทั้งสองกลุ่มคิดเป็นสัดส่วนที่สูง และไม่รู้ตัว ไม่ระวังตัว หรือไม่ได้รับการตรวจโควิด

ยิ่งไปกว่านั้น 15% ของผู้ติดเชื้อจะมีอาการรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ จนไปรักษาที่โรงพยาบาล แต่ดันมีข่าวดังกล่าวข้างต้น ตอกย้ำว่าเราอาจมีปัญหาเรื่องการตรวจที่ยังไม่เพียงพอที่จะค้นหาสถานการณ์จริงของการติดเชื้อในประเทศก็เป็นได้

ดังนั้น ขอให้ทราบไว้ว่า หากเราไม่สบาย มีอาการคล้ายหวัด หรือหวัดใหญ่ คือ ไข้ ไอ เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล ดมไม่ได้กลิ่น ลิ้นรับรสไม่ได้ หรือท้องเสีย ขอให้หยุดงาน หยุดเรียน และรีบไปตรวจ และขอให้คุณหมอส่งตรวจ COVID-19 ด้วยนะครับ นี่คือ"สิทธิ"ของพวกเราทุกคนที่จะได้รับการตรวจ

ตอนนี้เหมือนผีซ้ำด้ามพลอย ปลดล็อคระยะที่ 5 และ 6 มีกลุ่มเป้าหมายหลากหลายกลุ่มที่กำลังทยอยเดินทางจากต่างประเทศเข้ามาในไทย ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมากจริงๆ

เรามีโอกาสติดเชื้อโดยไม่รู้ตัวได้ หากไม่ระวัง ไม่ป้องกัน อาจเหมือนกับกรณีข่าวล่าสุดที่ญี่ปุ่นรายงานว่ามีคนญี่ปุ่นที่เพิ่งกลับจากประเทศไทยไปแล้วตรวจพบว่าติดเชื้อ หากเป็นจริง ก็ยิ่งทำให้เราต้องกลับมาทบทวนกลไกที่มีอยู่แล้วล่ะครับว่า มีประสิทธิภาพแค่ไหน จริงหรือไม่?

ใส่หน้ากากเสมอนะครับ ล้างมือบ่อยๆ อยู่ห่างคนอื่นหนึ่งเมตร พูดน้อยลง พบปะคนน้อยลงสั้นลง เลี่ยงที่แออัดที่ชุมนุมที่อโคจร และคอยสังเกตอาการตนเองและครอบครัวอยู่เสมอ หากไม่สบาย รีบไปตรวจรักษา โรคนี้ ติดง่ายกว่าไข้หวัดใหญ่ 3 เท่า สายพันธุ์ใหม่แพร่ง่ายกว่าสายพันธุ์เดิม 3 เท่า ยังไม่มียารักษามาตรฐาน ไม่มีวัคซีนป้องกัน

ด้วยรักต่อทุกคน

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 

ที่มา Thira Woratanarat






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.