เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



กระทรวงแรงงาน เตรียมตำแหน่งว่างเกือบ 1 แสนอัตรา ทำงานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC 


17 ส.ค. 2563, 14:49



กระทรวงแรงงาน เตรียมตำแหน่งว่างเกือบ 1 แสนอัตรา ทำงานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC 





  

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เผย   นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับปัญหาการว่างงานที่เกิดกับพี่น้องแรงงานในทุกภาคส่วนของประเทศไทย ซึ่งวิกฤตการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานของไทยเป็นอย่างมาก รวมทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ แม้กระทั่งในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ต้องเผชิญกับสภาวะดังกล่าว           

ซึ่งกรมการจัดหางาน  ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้เร่งหามาตรการเพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมให้ประชาชนได้เกิดการจ้างงาน โดยเฉพาะในส่วนพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ใน 3 จังหวัด คือ ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในการขับเคลื่อนด้านแรงงาน เศรษฐกิจและสังคม  โดยเร่งเตรียมตำแหน่งงานว่าง พร้อมร่วมมือกับหน่วยที่เกี่ยวข้อง อบรมยกระดับฝีมือแรงงานเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เนื่องจากเป็นพื้นที่ส่งเสริมการลงทุน ประกอบกับรัฐบาลมีมาตรการในการจูงใจนักลงทุนให้มาลงทุนในพื้นที่ EEC  โดยเฉพาะการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมใหม่      

    ขณะนี้ สถานการณ์ COVID-19 ในประเทศได้คลี่คลายลง  กรมการจัดหางานมีแนวคิดจะกระตุ้น การจ้างงาน ในพื้นที่ EEC ทันที ซึ่งจะสอดรับการเป็นพื้นที่การลงทุนของรัฐบาล ที่ดึงให้นักลงทุนมาประกอบกิจการเพื่อพลิกฟื้นสถานการณ์ในพื้นที่ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว โดยประเภทงานที่ EEC มีความต้องการแรงงานมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ 

1.แรงงานด้านการผลิตอื่นๆ  ;  แรงงานทั่วไป 12,706  อัตรา 
2.พนักงานรักษาความปลอดภัย   11,437  อัตรา  
3.พนักงานบริการอื่นๆ 1,807 อัตรา 
4.ช่างอัญมณีและช่างประดิษฐ์เครื่องประดับอื่นๆ  1,186 อัตรา 
5.ผู้ตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ 872 อัตรา 
6.ช่างเทคนิควิศวกรรมไฟฟ้า  826  อัตรา  
7.ช่างเทคนิควิศวกรรมโยธา  (ก่อสร้าง) 618 อัตรา 
8.พนักงานขาย และผู้นำเสนอสินค้าอื่น ๆ 609 อัตรา 
9.เจ้าหน้าที่เทคนิคเคมี  , ช่างเทคนิค (อินทรีย์เคมี  , ยาง , พลาสติก, โพลิเมอร์, สี , กระดาษ , น้ำมัน , เส้นใย , อาหารและเครื่องดื่ม)   604 อัตรา 
10.เจ้าหน้าที่การตลาด  516 อัตรา  

และอื่นๆ (ช่างเทคนิควิศวกรรมเครื่องกลอื่น ๆ, แม่บ้านและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ, ช่างเชื่อมโลหะด้วยไฟฟ้า , ฯลฯ) 9,770 อัตรา         

 



 โดยแรงงานที่ต้องการในพื้นที่ EEC มีทุกระดับตั้งแต่แรงงานฝีมือ กึ่งฝีมือ และไรฝีมือ  ซึ่งมีความต้องการครอบคลุมตั้งแต่ระดับประถมศึกษา จนถึงปริญญาตรี ขึ้นไป” 

ขณะเดียวกัน กรมการจัดหางานยังได้ร่วมกับหน่วยที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการพัฒนาทักษะแรงงาน เพื่อส่งเสริมฝีมือและผลิตบุคลากรให้ทำงานในภาคอุตสาหกรรม เช่น ร่วมกับสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (MARA) ฝึกอบรม เกี่ยวกับหุ่นยนต์อุตสาหกรรม เทคโนโลยีการเชื่อมด้วยหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการผลิต ภาควิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ภาควิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา จำกัด คณะวิศวกรรมศาสตร์เกษมบัณฑิต สถาบันไทย-เยอรมัน บริษัท สยามโตโยต้า แมนูแฟคเจอริ่ง บริษัท ออโตไดแดคติค จำกัด บริษัท พี ซี ทาคาชิม่า ไทยแลนด์ จำกัด และบริษัท พนัสแอสเซมบลีย์ จำกัด  รวมทั้ง ได้ประชุมหารืออย่างเข้มข้น และลงนามบันทึกข้อตกลงทางวิชาการ เพื่อประโยชน์และพัฒนาศักยภาพแรงงานในอนาคต 

อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวตอนท้ายว่า เศรษฐกิจทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกยังอยู่ในระยะการฟื้นฟู ซึ่งมีความจำเป็นต้องสนับสนุนให้เกิดการปรับตัวของแรงงานเพื่อนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน      

    ในระยะยาว จากความต้องการแรงงานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การเรียนในสายอาชีพเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานเป็นอย่างมาก และสายงานเหล่านี้ยังสามารถอยู่ได้แม้ในภาวะวิกฤต ดังนั้น เพื่อรองรับต่อภาคอุตสาหกรรม จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกหาก  หันมาเลือกเรียนในสายอาชีพเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ และไม่ตกงาน อย่างไรก็ดี กรมการจัดหางานจะเร่งดำเนินมาตรการให้แรงงานไทยได้บรรจุงาน มีงานทำ  รวมทั้งได้พัฒนาทักษะแรงงาน ด้วย เพื่อให้มีศักยภาพรองรับการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อมารองรับเทคโนโลยีใหม่ทั้งด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ต่อไป


ที่มา ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมการจัดหางาน

 · 

 






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.