ร.ฟ.ท.เดินหน้ารื้อสะพานดำ 2495 ข้ามแควน้อย เปลี่ยนโครงเหล็ก-ไม้หมอน
18 ส.ค. 2563, 09:21
ตอนนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) กำลังบูรณะสะพานดำรถไฟข้ามแม่น้ำแควน้อย สถานีรถไฟแควน้อย ต.มะขามสูง อ.เมืองพิษณุโลก ซึ่งเป็นสะพานรถไฟเหล็กร่วมสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เหมือนสะพานข้ามแม่น้ำแคว จ.กาญจนบุรี
เนื่องจากสะพานที่ยังคงมีร่องรอยการทิ้งระเบิดยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 หลงเหลืออยู่แห่งนี้ก่อสร้างขึ้นในปี 2495 ปัจจุบันสภาพชำรุดทรุดโทรม ไม้หมอนรถไฟพุพังตามอายุ การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงได้มีนโยบายในการปรับปรุงตัวโครงสร้างใหม่ เปลี่ยนเป็นโครงเหล็กชุบคาร์บอนไนซ์และเปลี่ยนไม้หมอน เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของตัวสะพาน รองรับหัวรถจักรรุ่นใหม่ที่การรถไฟแห่งประเทศไทยได้สั่งซื้อ เตรียมนำมาใช้งานจริงเร็วๆนี้
นายธีรพงษ์ พันธ์ทับทิม อายุ 36 ปี ลูกจ้างเฉพาะงาน สถานีรถไฟแควน้อย กล่าวว่า คนรุ่นเก่าๆบอกว่า สมัยนั้นญี่ปุ่นใช้ไทยเป็นทางผ่านไปประเทศพม่า จึงสร้างเส้นทางหลายแห่ง ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุคนั้นฝ่ายสัมพันธมิตรพยายามตัดเส้นทางลำเลียงของญี่ปุ่น จึงได้ทิ้งระเบิดเพื่อทำลายสะพานรถไฟ
ซึ่งสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแควน้อยแห่งนี้ก็เป็น 1 ในสถานที่ที่ถูกทิ้งระเบิดเช่นเดียวกันกับสะพานข้ามแม่น้ำน่าน ที่สถานีรถไฟชุมทางบ้านดารา อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ แต่โชคดีระเบิดที่ทิ้งรถสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแควน้อยแห่งนี้ไม่ทำงาน
โดยพบระเบิดขนาดใหญ่อยู่ 3 ลูก (ลูกใหญ่ 1 ลูก ลูกเล็ก 2 ลูก) ลักษณะเสื่อมสภาพจมในแม่น้ำแควน้อย ใกล้เคียงกับสะพานดำรถไฟ จึงนำมาทำการคว้านไส้ดินระเบิดด้านในออก และทาสีใหม่แล้วนำไปตั้งไว้ที่สถานีรถไฟแควน้อย เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ต่อมาระเบิดได้หายไป 1 ลูก เหลือเพียงลูกใหญ่ 1 ลูก และลูกเล็ก 1 ลูกเท่านั้น
นายธีรพงษ์ กล่าวอีกว่า การบูรณะ "สะพานดำข้ามแม่น้ำแควน้อย" เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของตัวสะพาน รองรับหัวรถจักรรุ่นใหม่ในอนาคต ส่วนเหล็กดำ จะแยกชิ้นส่วน ไปเก็บไว้แถวสถานีรถไฟแควน้อยต่อไป
สำหรับตัวสถานีรถไฟแควน้อย อยู่ห่างจาก สถานีรถไฟพิษณุโลกไปทางทิศเหนือระยะทางประมาณ 15 กม. ส่วนสะพานดำข้ามทางรถไฟแควน้อยอยู่ห่างจากตัวสถานีรถไฟแควน้อยไปทางทิศเหนือประมาณ 500 เมตร