เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



 อนุทิน ผุดนโยบาย บัตรทอง ใช้ได้ทุกโรงพยาบาล


18 ส.ค. 2563, 17:34



 อนุทิน ผุดนโยบาย บัตรทอง ใช้ได้ทุกโรงพยาบาล




 

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ระบบสุขภาพกับการเมืองไทย” ในการประชุม Board Relation and Empowering คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติชุดใหม่  จัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ ประสบการณ์ และสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง โดยเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติราชการชองสปสช.ระยะ 5 ปี (2561-2565)ว่า การดูแลประชาชนในส่วนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สิ่งที่ต้องการเห็น คือ ไม่ว่าคนไทยจะอยู่ที่ไหนเมื่อเจ็บป่วยรัฐดูแลหมด เพราะฉะนั้น ต้องพยายามเดินหน้าเข้าสู่คำว่าครอบจักรวาลจะต้องทั่วถึง ทั่วหน้า เข้าถึงทุกที่ ทุกเวลา ไม่แบ่งแยก ไม่มีข้อยกเว้น ซึ่งได้มอบนโยบายให้สปสช.ไปศึกษาและนำมาเสนอแล้ว เพื่อเป็นการเพิ่มเติมเพื่อเติมเต็มจุดที่ยังไม่สมบูรณ์ให้เดินหน้าต่อไป

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า เรื่องนี้เป็นนโยบายพัฒนายกระดับการบริการด้านสุขภาพให้เพิ่มเติมจากช่วงเริ่มต้นที่ผ่านมาเกือบ 20 ปีแล้ว ปัจจุบันรักษาทุกโรค ก็จะต้องยกระดับให้มากขึ้น สิ่งที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ คือ ไม่จำเป็นที่ผู้เจ็บป่วยต้องไปเข้ารับการรักษาเฉพาะแค่โรงพยาบาลแถวบ้านหรือที่ขึ้นทะเบียนไว้ตามสิทธิเท่านั้น แต่สามารถเข้ารับบริการได้ในโรงพยาบาลทุกแห่ง ซึ่งขณะนี้มีความพร้อมทั้งในเรื่องของเครือข่ายการเชื่อมโยงต่างๆและเลขบัตรประชาชน 13 หลักอยู่แล้ว แต่มีสิ่งที่ต้องพัฒนาให้รองรับคือระบบข้อมูลสารสนเทศ ให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลการรักษาพยาบาลระหว่างกันได้ 

นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า การเมืองจะไม่เข้าไปก้าวก่ายการทำงานของทุกท่านในสปสช. การเมืองของตนอยู่ในสภา จะไม่เอาเรื่องสุขภาพ เรื่องระบบสาธารณสุขมาเล่นเกมส์การเมือง จะไม่เอาความเชื่อของตัวเองแล้วไม่ฟังใคร เพียงเพราะต้องการชื่อเสียง คะแนนเสียงแล้วมาแลกกับสุขภาพหรือชีวิตของประชาชน ซึ่งระบบสุขภาพหากการเมืองไม่เข้ามาโกงเชื่อว่าระบบสุขภาพก็ไปได้ดี 

 



ด้านนพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสปสช. กล่าวว่า กว่า 17 ปี ของการขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีองค์ความรู้และประสบการณ์ที่หลากหลาย มีผลการดำเนินงานเชิงประจักษ์และบรรลุความสำเร็จหลายมิติ เช่น เพิ่มการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็น ป้องกันประชาชาจากความเสี่ยงทางการเงินจากค่ารักษาพยาบาล ลดช่องวางทางสุขภาพ อย่างไรก็ตาม ระบบหลักประกันสุขภาพระยะต่อไป ยังมีข้อจำกัดและความท้าทายอีกมากมาย เพื่อให้มีความยั่งยืนและพัฒนาอย่างต่อเนื่องก้าวไปข้างหน้า เช่น การขับเคลื่อนความเสมอภาคการได้รับบริการสาธารณสุขของประชาชน ลดข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการสุขภาพของกลุ่มเปราะบางในสังคม และเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภพาของระบบ โดยเฉพาะในยุคเศรษฐกิจและสังคมวิถีใหม่หลังการระบาดของโรคโควิด- 19

“จะถือเป็นการพัฒนาอีกขั้นตอนอย่างมีประสิทธิภาพ ให้เป็นที่ไว้วางใจของคนไทยซึ่ง คนไทยจะต้องมั่นใจว่าไม่ว่ามีสถานะอย่างไร ถ้าป่วยได้รับการรักษาแน่นอน คำว่าคนไข้อนาถาต้องไม่มีในระบบสาธารณสุขของไทยอีกต่อไป”นายอนุทินย้ำ 







Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.