สำนักงานสถิติแห่งชาติ ประชุมการจัดทำสำมะโนประชากร และเคหะจากฐานข้อมูลทะเบียน
19 ส.ค. 2563, 19:53
ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ที่โรงแรมมุกดารา บีช วิลล่า แอนด์ สปา อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา น.ส.วันเพ็ญ พูลวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ การสร้างการรับรู้ในการจัดทำสำมะโนประชากรและเคหะจากฐานข้อมูลทะเบียน และการกำหนดแนวทางจัดทำจากมุมมองและบริบทของพื้นที่ ของบุคลากรสำนักงานสถิติ 14 จังหวัดภาคใต้ โดยมี นายบุญเติม เรณุมาศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา พร้อมด้วยนายบำรุง ปิยนามวาณิช นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพังงา กล่าวต้อนรับพร้อมกับแนะนำจังหวัดพังงา มีนายชูชาติ อ่อนเจริญ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานพังงา ว่าที่ร้อยเอกพงษ์ศักดิ์ เวทยวงศ์ นายอำเภอตะกั่วป่า นายจำลอง เก่งตรง ผู้ตรวจราชการกรม สถิติจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ และบุคลากรเข้าร่วมกว่า 300 คน
น.ส.ประไพ พุกงาม สถิติจังหวัดพังงา กล่าวว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ จัดทำสำมะโนประชากรและเคหะ โดยอาศัยอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติสถิติ พ.ศ. 2550 สำมะโนประชากรและเคหะเป็นแหล่งข้อมูลหลักด้านประชากรของประเทศ ที่นำมาใช้ในการวางแผน และกำหนดนโยบาย ด้านประชากร สังคม และเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดทำสำมะโนประชากรและเคหะทุก 10 ปี ตามข้อแนะนำของคณะกรรมาธิการสถิติแห่งสหประชาชาติ เพื่อให้แต่ละประเทศมีข้อมูลที่สามารถเปรียบเทียบกันได้ การจัดทำสำมะโนประชากรและเคหะ ซึ่งถือว่าเป็นโครงการจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ ในปัจจุบันนั้นดำเนินการได้ยากขึ้น โดยเฉพาะในชุมชน ที่มีความเป็นเมืองสูง เนื่องจากลักษณะความเป็นอยู่ของประชากรเปลี่ยนแปลงไปมาก และการให้ความร่วมมือ ในการให้ข้อมูลน้อยลง นอกจากนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ไม่สามารถดำเนินการจัดทำสำมะโนประชากรและเคหะด้วยวิธีการสัมภาษณ์แบบดั้งเดิมได้ ทางคณะกรรมการบริหารโครงการ สำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. 2563 จึงได้มีมติ ให้เลื่อนการจัดทำสำมะโนประชากรและเคหะในปี 2563 ออกไปก่อน ซึ่งสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้พิจารณาปรับเปลี่ยนรูปแบบ และวิธีการจัดทำสำมะโนประชากรและเคหะ จากวิธีดั้งเดิม เป็นการดำเนินการจากฐานข้อมูลทะเบียน สำหรับ การเปลี่ยนผ่านรูปแบบและวิธีการจัดทำสำมะโนนั้น คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยุโรป แห่งสหประชาชาติ (UNECE) ได้ระบุถึงเงื่อนไขความสำเร็จที่สำคัญประการหนึ่งว่า “ในการเปลี่ยนผ่าน จะต้องได้รับการยอมรับจากสาธารณะ และจากผู้ที่เกี่ยวข้อง” การจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในครั้งนี้ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมฯ มีองค์ความรู้ในการจัดทำสำมะโนประชากรและเคหะ ทั้งแบบดั้งเดิมและจากฐานข้อมูลทะเบียน อาทิ รูปแบบ วิธีการ ตัวอย่างการดำเนินงาน ของประเทศต่าง ๆ, เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมฯ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็น ปัญหาอุปสรรค จากการจัดทำสำมะโนประชากรและเคหะแบบดั้งเดิมในอดีต และกำหนดแนวทางในการจัดทำสำมะโนประชากรและเคหะจากฐานข้อมูลทะเบียนในอนาคต และเพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมฯ ทราบถึงเทคนิคการบริหารจัดการโครงการ ขนาดใหญ่ การสื่อสารองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ การประสานสัมพันธ์ รวมถึงการปรับทัศนคติ และการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในผู้ใหญ่ เพื่อพร้อมที่จะรับมือ หากมีสถานการณ์วิกฤตหรือการเปลี่ยนแปลง
น.ส.วันเพ็ญ พูลวงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับบุคลากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติเกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ของ สสช. ในยุควิถีชีวิตใหม่ ซึ่งภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 บริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ทุกคนในสังคมและองค์กรต้องปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงสำนักงานสถิติแห่งชาติและสำนักงานสถิติจังหวัดทั่วประเทศเช่นกัน ที่ต้องมีความรู้ความเข้าใจในบทบาทใหม่ๆ ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำสำมะโนประชากรและเคหะในวิธีใหม่ๆ เป็นการเตรียมความพร้อมบุคลากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในทุกศูนย์/กอง/จังหวัด และทุกระดับ ซึ่งบุคลากรเป็นกลไกที่สำคัญที่สุดในการสื่อสารออกไปภายนอกองค์กร ให้สามารถสร้างการยอมรับการเปลี่ยนผ่านการจัดทำสำมะโน ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป นอกจากนี้การจัดกิจกรรมในพื้นที่จังหวัดพังงาครั้งนี้ เป็นการช่วยหนุนเสริมนโยบายของรัฐบาลในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19