ตรัง เสนอผู้ว่าฯ 3 จังหวัดเป็นเจ้าภาพแก้ปัญหาพะยูน
17 ก.ค. 2562, 16:49
ดร.มาโนช วงษ์สุรีรัตน์ อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง ในฐานะเจ้าของงานวิจัยพะยูนด้วยการติดสัญญาณดาวเทียม หรือติดแท็ก ช่วงระหว่างปี 2559-2560 เพื่อศึกษาวิจัยชีวิต การหากิน และแหล่งหลับนอนของพะยูน ก่อนนำข้อมูลที่ได้ไปจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองพะยูน จนเกิดการอนุรักษ์และคุ้มครองพื้นที่พะยูนในทะเลตรังอย่างเป็นระบบ กล่าวว่า ปัญหาการเกยตื้นของพะยูนในทะเลตรัง-กระบี่ ทั้งที่รอดชีวิตและนำมาอนุบาลในห้องอนุบาลที่ จ.ภูเก็ต และในระบบเปิดตามธรรมชาติที่ทะเลตรัง รวมทั้งการเกยตื้นตาย ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องจับมือร่วมกันกำหนดแนวทางบริหารจัดการ โดยนำหลักการทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่
ทั้งนี้ จากการทำงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ด้วยการติดสัญญาณดาวเทียมติดตามตัวพะยูน และการดำน้ำศึกษาแหล่งหญ้าทะเล รวมทั้งแหล่งอาศัยและเส้นทางการเดินทางของพะยูน พบพะยูนมีการเดินทางและกระจายอยู่ทั้งหมด 3 จังหวัด คือ จ.ตรัง ซึ่งเป็นแหล่งใหญ่ที่สุด มีประมาณ 150-180 ตัว ในบริเวณอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เกาะมุก และเกาะลิบง ส่วน จ.สตูล พบพะยูนที่เกาะริดี หมู่เกาะเภตรา และ จ.กระบี่ พบพะยูนที่เกาะปู เกาะจำ และเกาะศรีบอยา โดยในส่วนของ จ.ตรัง ถือเป็นต้นแบบในการกำหนดเขตพื้นที่ดูแลคุ้มครองพะยูน ที่ร่วมมือกันระหว่างภาคส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง กับชุมชน ชาวประมงพื้นบ้าน ทั้งการงดใช้เครื่องมือทำประมงที่เป็นอันตรายกับพะยูน หรือสัตว์ทะเลหายาก เต่าทะเล และโลมา จนทำให้พะยูนในพื้นที่ จ.ตรัง มีอัตราการตายลดลง และมีอัตราการเกิดและอยู่รอดเพิ่มขึ้น ตามข้อมูลตัวเลขที่กรมทรัพยากรทางทะเลฯ ได้บินสำรวจทุกปี
อย่างไรก็ตาม การพบพะยูนเกยตื้นตายล่าสุดในพื้นที่ จ.กระบี่ ถือเป็นแหล่งข้อมูลใหม่ที่จะต้องเก็บข้อมูลมาศึกษา เพื่อวางแผนการบริหารจัดการพื้นที่ ร่วมกับทีมสัตวแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการผ่าซาก เพื่อหาสาเหตุการตายของพะยูนว่า ตายตามธรรมชาติ หรือตายผิดธรรมชาติ ตลอดจนเก็บตัวอย่างเศษหญ้าในกระเพาะอาหารเพื่อส่งให้พื้นที่ไปศึกษา หรือดำน้ำตามหาชนิดและแหล่งหญ้าทะเล เพื่อจะได้ทราบจุดที่พะยูนหากิน ซึ่งงานอนุรักษ์พะยูนของไทยในขณะนี้ ถือเป็นงานวิชาการระดับโลกที่ทั่วโลกสนใจ จนมาพบการเกยตื้นตายเพิ่มขึ้นที่ จ.ตรัง และจ.กระบี่ จึงขอเสนอแนะให้มีการตั้งคณะทำงานร่วมบริหารจัดการพื้นที่ และให้มีผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 3 จังหวัด เป็นเจ้าภาพหลัก โดยมีเป้าหมายการทำงานเหมือนกันคือ การทำงานเชิงวิทยาศาสตร์ทางทะเล เพื่อจัดพื้นที่โซนนิ่งอนุรักษ์พะยูน การดูแลเรื่องเครื่องมือประมง การทำประมง การท่องเที่ยว การเดินเรือ
อดีต หน.อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม กล่าวอีกว่า ส่วนการอนุบาลยามีล พะยูนน้อยที่ จ.ภูเก็ต จะต้องรีบนำกลับมาอนุบาลในระบบธรรมชาติ ส่วนการอนุบาลมาเรียม พะยูนน้อยที่ จ.ตรัง ขณะนี้ถึงเวลาแล้วต้องตั้งทีมศึกษาใต้น้ำเพื่อค้นหาฝูงพะยูน และนำมาเรียม ออกดำน้ำกินหญ้าในแหล่งฝูง เพื่อช่วยมาเรียม ค้นหาครอบครัว หรือหาฝูงกลับคืนธรรมชาติ โดยต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญทางทะเล และผู้เชี่ยวชาญการดำน้ำ อีกทั้งอาจจะต้องหาเรือคะยัคหลายๆ สีมาเป็นแม่ ในการออกทะเล เพื่อให้มาเรียม เห็นธรรมชาติและปรับตัว โดยทีมใต้น้ำจะต้องรับมาเรียม ต่อจากทีมสัตวแพทย์ เพื่อสอนพะยูนน้อยให้ออกหากิน และให้คุ้นเคยกับฝูง ก่อนนำคืนธรรมชาติ แทนการนำมาเรียม ออกหากินกับแม่ส้ม เรือคะยัคเพียงลำเดียวอย่างเช่นในปัจจุบัน