มท.2 กำชับผู้ว่าฯ-ปภ.เปิดเชิงรุกจัดการสาธารณภัย ย้ำแผนรับมืออุทกภัย 5 จ.ชายแดนใต้
30 ส.ค. 2563, 16:17
วันนี้ ( 30 ส.ค.63 ) เวลา 14.30 น. นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.2) เป็นประธานเปิด กิจกรรมโครงการฝึกกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (ส่วนหน้า) ประจำปี 2563 รวมถึงมอบนโยบาย การดำเนินงานเตรียมความพร้อม รับเหตุการณ์สาธารณภัยประเภทต่าง ๆ ของศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 12 สงขลา โดยมีนายสมหวัง เรืองเพ็ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายวิทยา จันทร์เสนะ ผู้ตรวจราชการกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายจำนัล เหมือนดำ ผู้แทนพิเศษรัฐบาล ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 12 สงขลา หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงาน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทหาร สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน จิตอาสาและอปพร. เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติงานด้านป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอย่างเป็นระบบมีประสิทธิภาพและเป็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นและลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตจากสาธารณภัยต่าง ๆ
ทั้งนี้ ในส่วนของการเตรียมการป้องกันเพื่อรับมือสาธารณภัยและการเตรียมการก่อนเข้าฤดูมรสุมในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ได้มีการซักซ้อมการปฏิบัติงานร่วมกับทุกหน่วยงานภาคี เช่น องค์กรปกครองท้องถิ่น อาสาสมัครกู้ภัยต่าง ๆ เครือข่ายสาธารณสุข พร้อมทั้งการประเมินความพร้อมของบุคลากร เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์การปฏิบัติงานของหน่วยงาน เครือข่ายทุกภาคส่วน ที่เป็นประโยชน์ในการปฏิบัติงานร่วมกัน
นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า "กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ อยู่ในสังกัดของกระทรวงมหาดไทย ได้จัดให้มีโครงการฝึกกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (ส่วนหน้า) ประจำปีขึ้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม ของเครื่องมือ เครื่องจักรกลสาธารณภัย และบุคลากร ความพร้อมของแผนบูรณาการในการให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชน โดยร่วมกับจังหวัด และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และหน่วยภาคีในพื้นที่ ตลอดจน ความร่วมมือกับอาสาสมัครภาคประชาชน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการจัดการสาธารณภัยต่าง ๆ ทั้งก่อนเกิด ในขณะเกิด และ การจัดการหลังเกิดสาธารณภัย การเตรียมตัวและเฝ้าระวังเพื่อการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องของประชาชนและเจ้าหน้าที่
สำหรับในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นี้ ช่วงเดือนกันยายน 2563 - มกราคม 2564 จะเป็นช่วงฤดูมรสุมในพื้นที่ ที่จะมีปริมาณฝนตกชุก เสี่ยงต่อการเกิดน้ำป่าไหลหลาก จำเป็นต้องเตรียมการรับมือเป็นอย่างดี เพราะความเสียหายจากสถานการณ์อุทกภัยแต่ละครั้งนอกจากความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนแล้ว มูลค่าเศรษฐกิจก็สูญเสียไม่น้อยเช่นเดียวกัน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ และ เจ้าหน้าที่ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ต้องเป็นแกนหลักในการจัดการสาธารณภัยให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การลดความเสี่ยงการเกิดอุทกภัย แผนเผชิญเหตุที่รวดเร็วเป็นระบบ แผนอพยพที่มีความพร้อม และแผนฟื้นฟูเยียวยาที่ครอบคลุมและกลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว และต้องบริหารจัดน้ำเพื่อใช้ในฤดูแล้งปีต่อไป อีกด้วย
ทั้งนี้ ในการเตรียมความพร้อมช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ผู้ประสบสาธารณภัย อันดับแรก ต้องมีการแจ้งเตือนภัยอย่างเป็นระบบ รวดเร็วถูกต้อง มีการประเมินความเสี่ยงจากหน่วยงานหลัก ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงพี่น้องประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ ที่จัดเตรียมไว้ โดยให้ทุกภาคส่วนและทุกระดับ สร้างความเป็นหุ้นส่วนในการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย มุ่งเน้นบทบาทการมีส่วนร่วมในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมทำ ร่วมแก้ไขปัญหา เสริมสร้างความเข้มแข็งและภูมิคุ้มกัน ตั้งแต่ระดับชุมชน ท้องถิ่น สังคม จังหวัดและประเทศชาติโดยรวม
และประการสุดท้าย ต้องมีการประกอบกำลังของเครือข่าย โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และจิตอาสาภาคประชาชน ในระดับพื้นที่ โดยมีส่วนร่วมในการเตรียมความพร้อมด้านเครื่องมือ เครื่องจักรกลสาธารณภัย ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ภัย ที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ ภายใต้ระเบียบการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ เน้นย้ำให้บริหารจัดการสาธารณภัยเชิงรุกอย่างบูรณาการและครอบคลุมทุกมิติ โดยนำข้อสั่งการของรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ เสริมสร้างความรู้ พัฒนาประสิทธิภาพในการรับมือภัยพิบัติแก่เจ้าหน้าที่ และเครือข่ายให้พร้อม โดยมีเป้าหมายสูงสุด เพื่อช่วยเหลือประชาชน ให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น รวมถึงทรัพย์สินและลดความสูญเสียชีวิต"
ต่อจากนั้น รมช.มท.ได้เยี่ยมชมการสาธิต การฝึกซ้อม เพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการ อย่างเป็นระบบ โดยการระดมทรัพยากรจาก 3 สถานี ประกอบด้วยการต่อสายเครื่องสูบส่งน้ำระยะไกล การต่อสะพานแบรี่ และการประกอบติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 14 นิ้ว พร้อมทั้งปล่อยขบวนทรัพยากรกู้ภัยของศูนย์ปภ.เขต 12 สงขลา และหน่วยงานภาคีเครือข่ายประกอบด้วย มทบ. 42 กองพลพัฒนาที่ 4 กองบิน 56 ทัพเรือภาคที่ 2 เทศบาลเมืองควนลัง สำนักงานชลประทานที่ 16 สงขลา การประปาส่วนภูมิภาค สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 8 และสำนักงานทางหลวงชนบทที่ 12 สงขลา