นายกฯ ลั่นเตรียมเปิดให้ทุกคนประเมินผลการทำงานภาครัฐ
31 ส.ค. 2563, 12:43
วันที่ 31 ส.ค. 2563 เวลา 09.30 น. ณ ห้องเอสแคป ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนา Global Compact Network Thailand และกล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “วิถีคิดผู้นำในสถานการณ์วิกฤต ประสบการณ์จากสถานการณ์โควิด-19” โดยนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญดังนี้
ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan: NAP) เมื่อปี 2562 โดยแผนปฏิบัติการดังกล่าวให้ความสำคัญกับ 3 เสาหลัก คือ คุ้มครอง เคารพ และเยียวยา ซึ่งขอขอบคุณหน่วยงานต่าง ๆ ภายในประเทศ รวมถึงสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทยที่มีบทบาทนำในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน หวังว่าจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมการเคารพในศักดิ์ศรีของไทย
สำหรับหัวข้อ “วิถีคิดผู้นำในสถานการณ์วิกฤต ประสบการณ์จากโควิด-19” วิกฤตครั้งนี้เป็นวิกฤตระดับโลกแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนทำให้ต้องปรับตัวทั้งในการใช้ชีวิตและดำเนินธุรกิจให้เป็นไปในรูปแบบ “New Normal” หรือ “วิถีปกติใหม่” ดังนั้น ผู้นำในทุกองค์กร รวมทั้งภาครัฐบาลจึงต้องพร้อมปรับตัวเพื่อก้าวเข้าสู่โลกใหม่ด้วย รัฐบาลเองก็จะเร่งปรับปรุงวิธีการทำงานให้เป็นแบบ New Normal ผนึกกำลัง นำทุกภาคส่วน และทุกระดับในสังคม เข้ามามีส่วนร่วม และมีบทบาท เพื่อร่วมวางอนาคตของประเทศไทย ทุกภาคส่วนจะต้องรวมพลังกันเพื่อ “รวมไทยสร้างชาติ” ท่ามกลางวิกฤตนี้ “เราจะต้องรอด และวันหน้า เราต้องเข็มแข็งกว่าเดิม” พวกเราคนไทยจะฝ่าฟันไปด้วยกัน เพราะเราและโลกมีเป้าหมายที่ชัดเจนรออยู่ข้างหน้า นั่นก็คือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ หรือ SDGs ซึ่งเราจะต้องบรรลุให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2030 หรือปี 2573
รัฐบาลได้จัดตั้ง “คณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน” ทำหน้าที่ ติดตาม เร่งรัด ช่วยเหลือเยียวยา และขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาของประชาชนในระดับพื้นที่ และรัฐบาลจะเปิดให้มีการประเมินผลงานภาครัฐ ให้ทุกคนสามารถประเมินผล การทำงานของรัฐว่าสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนตามที่เขาคาดหวังหรือไม่ รวมทั้ง การทำงานเชิงรุก กำหนดนโยบายสำคัญเร่งด่วนเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ขึ้นจริง และมีประสิทธิภาพสูงสุด
วิกฤตการณ์โควิด-19 ตอกย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยโชคดีที่มี “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นแนวทางการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ มี 3 ประเด็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการฟื้นตัวจากวิกฤต 1. ระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง จัดสรรงบประมาณด้านสาธารณสุขอย่างเหมาะสม มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ครอบคลุมทั่วถึง 2. เตรียมรับมือกับความท้าทายด้านเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหานี้ และบรรเทาผลกระทบแก่ประชาชนโดยจัดเป็นปัญหาเร่งด่วน 3. เป็นโอกาสที่จะนำพาประเทศไปสู่การเปลี่ยนแปลง และวางแผนเพื่อการฟื้นตัวอย่างยั่งยืน โดยรัฐบาลไทยกำลังขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า “Bio-Circular-Green Economy” หรือ “BCG” คือเรื่องเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว มีแนวทางสำคัญ คือ “การน้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืน” “สร้างความเข้มแข็งจากภายในเชื่อมไทยสู่โลก” และ “เดินหน้าไปโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” โดยโมเดลเศรษฐกิจ BCG มุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืนอย่างน้อย 5 มิติ ได้แก่ ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางสาธารณสุข ความมั่นคงทางพลังงาน หลักประกันการมีงานทำ และความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สิ่งที่ทำให้มั่นใจว่า ประเทศไทยจะสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วภายหลังวิกฤตโควิด-19 คือ ความร่วมแรงร่วมใจอย่างเป็นหนึ่งเดียวของคนไทยทุกคน ความร่วมมืออย่างดียิ่งจากมิตรประเทศ และองค์ความรู้และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจากหน่วยงานภายใต้องค์การสหประชาชาติ ทั้งนี้ ภายใต้การดำเนินการตามมาตรการทั้งหมดของไทย ทำให้ไทยได้รับคำชื่นชมจากสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลก รวมถึงได้รับการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศ ว่าสามารถบริหารจัดการด้านสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดและฟื้นตัวจากสถานการณ์ดังกล่าวได้ดีที่สุดประเทศหนึ่งของโลก
จากนั้นนายกรัฐมนตรี ร่วมเป็นสักขีพยานการประกาศเจตนารมณ์ขององค์กรสมาชิกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ให้คำมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนภายใต้วิถีใหม่