เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



กลาโหม ยันเรือดำน้ำทำสัญญาถูกต้อง ขออย่าบิดเบือน เผย ทร.สละงบช่วยโควิด 7.3 พันล้าน


31 ส.ค. 2563, 18:10



กลาโหม ยันเรือดำน้ำทำสัญญาถูกต้อง ขออย่าบิดเบือน เผย ทร.สละงบช่วยโควิด 7.3 พันล้าน




วันที่ 31 ส.ค. 2563 เวลา 16.00 น. พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมสภากลาโหมถึงโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ว่า เป็นโครงการภายใต้วงเงินของกองทัพเรือ ( ทร.) ผูกพันงบประมาณข้ามปี  2563 ซึ่งผ่านสภาฯ และได้บรรจุในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี  2563 แล้ว  ไม่ใช่โครงการผูกพันงบประมาณปี 2564 อย่างที่มีการเข้าใจกัน  เป็นในตามกรอบงบประมาณที่กองทัพเรือได้รับการจัดสรรในทุกปี ไม่ได้ขอรับการจัดสรรงบประมาณเป็นกรณีพิเศษ  ถือเป็นการตั้งงบฯ ผูกพันปกติ  ทั้งนี้ในปี 2563 ทร.ได้ชะลอโครงการเรือดำน้ำไปแล้ว งบประมาณส่วนหนึ่งได้ส่งคืนรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาโควิด ประมาณ  3,375 ล้านบาท และ ปี 2564 ก็ได้มีการเลื่อนไปก่อนอีก 3,925 ล้านบาทก็จะอยู่กับที่คณะกรรมาธิการวิสามัญ งบฯ ในการพิจารณา  ทั้งนี้ ไม่อยากให้มีการบิดเบือน  เพราะส่วนนี้เป็นงบประมาณในส่วนของทร.เอง ไม่ได้รับการจัดสรรให้มากขึ้น ในภาพรวมกองทัพได้งบประมาณทั้งหมด6.77 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณทั้งหมด



พล.ท.คงชีพ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลางยุทธศาสตร์เชื่อมโยงระหว่างมหาสมุทรอินเดีย และแปซิฟิค  ผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลมูลค่า 24 ล้านล้านบาทต่อปี  ประกอบด้วยอุตสาหกรรมขนส่งทางทะเล คิดเป็น 95 เปอร์เซ็นต์ หรือ 20 ล้านล้านบาท เป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับปิโตรเลียมที่มีอยู่30 แท่นขุดเจาะ มีคนทำงานอยู่เป็นหมื่นคน  มีมูลค่า 3 แสนล้านบาท ภาคประมงอีก 2 แสนล้านบาท มีชาวประมงที่ประกอบอาชีพหลายแสนคน การท่องเที่ยวอีกประมาณ 1 แสนล้านบาท เป็นผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลที่เราต้องดูแล นอกจากนั้นเขตเศรษฐกิจจำเพาะ หรือ เจดีเอ ที่กำหนดร่วมกันจะสิ้นสุดปี 2572 สถานการณ์ทางทะเลไม่ใช่ว่าจะดี มีความขัดแย้งกันในทะเลจีนใต้ ความไม่ชัดเจนเหล่านี้ที่จะเกิดขึ้นหลังปี 2572 อาจมีความขัดแย้งระดับต่ำ ที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งได้  ดังนั้นการปกป้องผลประโยชน์ทางทะเลต้องมีให้ครบทุกมิติ ผิวน้ำ บนฟ้า แผ่นดิน และใต้น้ำ ทร.มองครบทุกมิติโดยเฉพาะมิติใต้น้ำด้วย แต่เขายอมที่จะเจียดงบประมาณที่เกี่ยวข้อกับทางบก ผิวน้ำ บนฟ้า เพื่อให้ลงใต้น้ำให้ได้ เพื่อทำงานให้ครบทุกมิติ  ขอเรียนว่ามีความจำเป็นเพราะกว่าจะต่อเรือดำน้ำได้ 6-7 ปีต่อหนึ่งลำ ซึ่ง เจดีเอ ที่จะสิ้นสุดในปี 72 มีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดอะไรขึ้นได้


พล.ท.คงชีพ ยืนยันว่า สัญญาที่ทำกันนั้นถูกต้อง ไม่อยากให้มีการบิดเบือน อีกทั้งสัญญาเรือดำน้ำลำที่ 1 ได้ดำเนินการจบไปแล้ว เมื่อมาถึงการดำเนินการลำที่ 2 และ 3 เราทราบถึงความกังวลของคณะกรรมาธิการฯ ทาง รมว.กลาโหม จึงได้ประสานให้กองทัพเรือ ในการเลื่อนการจัดหาไปก่อน ขณะนี้ ทร.ยอมสละงบประมาณในส่วนนี้ ดังนั้นในรอบแรก 3,375 ล้านบาท และ ปีนี้ ทร.ก็ยอมเสียสละปี 2564 อีกวงเงิน 3,925 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาโควิด แต่อยากให้มีความเข้าใจในเรื่องผลประโยชน์ทางทะเล เพื่อให้กองทัพมีความเข้มแข็งในการปกป้องอธิปไตยของชาติและผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล

ทั้งนี้ที่ประชุม รมว.กลาโหม ได้กำชับให้ทุกเหล่าทัพให้ความสำคัญงานวิจัยและพัฒนามากขึ้น โดยให้สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ประสานกับเหล่าทัพ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ในการวิจัยวิทยาศาตร์ เทคโนโลยี โดยให้แสวงหาความร่วมมือกันหน่วยงานนอกกระทรวงกลาโหม ทั้งสถาบันการศึกษา ภาคเอกชน ที่เป็นภูมิปัญหาของคนไทยในการสร้างนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ เพื่อนำไปสู่การประดิษฐ์และใช้เองในกองทัพ เป็นการพึ่งพาตัวเองอย่างแท้จริงต่อไป

 

ที่มา naewnamatichon






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.