นายกเทศมนตรีฯ เผย งบประมาณการจัดเก็บภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง
31 ส.ค. 2563, 20:15
วันนี้ ( 31 ส.ค.63 ) ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า หลังจากที่ปลัดกระทรวงมหาดไทย ทำหนังสือ "ด่วนที่สุด" ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เรื่องแนวทางปฏิบัติ ขยายกำหนดเวลาการชำระภาษีและการคัดค้านการประเมินภาษีตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 หลังกำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีชำระภาษี ตามแบบแจ้งการประเมินภาษี ภายในเดือน สิงหาคม 2563 และผ่อนชำระ 3 งวดได้ในเดือนสิงหาคม ถึง เดือนตุลาคม 2563
นายอิทธิพนธ์ ตรีวัฒนสุวรรณ นายกเทศมนตรีนครอุดรธานี เปิดเผยว่า ตนเห็นด้วยที่รัฐบาลประกาศผ่อนผันช่วยเหลือดูแลประชาชนทั่วไป แต่ผลกระทบที่กลับมาคือ ทาง อปท. หรือทางเทศบาลฯ ที่มีหน้าที่ในการดูแลประชาชน เนื่องจากว่างบประมาณที่เราได้รับจากรายได้ที่เก็บภาษี ที่ทางรัฐบาลให้เราจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นเพียง 10 เปอร์เซนต์ จากยอด 100 เปอร์เซนต์ อย่างเทศบาลนครอุดรธานี เราตั้งเป้าจัดเก็บไว้ 90 ล้านบาท แต่เราเก็บได้เพียง 9 ล้านบาท ปัจจุบันมีผู้มาเสียภาษีเพียง 7 ล้านกว่าบาท ส่วนต่างที่มีถึง 80 ล้านบาท เป็นผลกระทบโดยตรงที่ทางเทศบาลเอง จะขาดรายได้จากส่วนนี้ไป
“เงินที่ขาดหายไป ทำให้ทางเทศบาลต้องเข้าไปดูที่รายจ่ายประจำ และงบลงทุนของเรา เช่น โครงการต่าง ๆ ที่ตั้งเตรียมไว้ของปีงบประมาณนี้ก็คงต้องหยุด ไม่สามารถเซ็นสัญญาได้ เนื่องจากไม่มีเงิน ส่วนเรื่องที่ 2 คือ รายจ่ายประจำ ที่เราต้องมาดูในเรื่องของค่าน้ำมัน หรือ ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา ที่จะทำให้การพัฒนาต่าง ๆ หดหายไป ซึ่งรายได้ของทางเทศบาลเรา ไม่ใช่เฉพาะที่รัฐให้จัดเก็บเพียง 10 เปอร์เซนต์เท่านั้น แต่ผลกระทบต่าง ๆ ที่รัฐได้กำหนดไว้ สำหรับการเยียวยาช่วงโควิด-19 ระบาด ก็มีผลกระทบด้วยเช่นกัน เช่น เรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ปกติแล้วจะเก็บไว้ในแต่ละปี เพื่อนำมาทำเป็นรายได้ ยังขาดหายไปกว่า 70 ล้านบาท
นายอิทธิพนธ์ กล่าวอีกว่า เรื่องของการงดการชำระค่าภาษีที่ดิน ที่เดิมเราตั้งรับภาษีส่วนนี้ไว้ เงินก็หายไปประมาณ 30 ล้านบาท และเรื่องของเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ที่รัฐส่งให้มาไม่ครบ ซึ่งหากรัฐบอกว่า ให้เรานำเงินสะสมของทางเทศบาลเรา นำไปจ่ายก่อน ก็เป็นการผลักภาระให้กับท้องถิ่น เนื่องจากว่ามาตรการแต่ละมาตรการนั้น เป็นเรื่องของรัฐบาลที่กำหนดไว้ทั้งสิ้น ฉะนั้นสิ่งที่ตนอยากฝากบอกไว้ คือ รัฐบาลต้องหางบประมาณมาชดเชยให้กับเทศบาลทุก ๆ เทศบาล ไม่งั้นเทศบาลเจ๊งแน่ ส่วนเรื่องที่จะกระทบไปถึงการปลดพนักงานเจ้าหน้าที่ ตนว่าจะเป็นมาตรการสุดท้ายของเรา ที่เราจะนำมาในเรื่องของการลดค่าใช้จ่าย แต่ว่าโดยปกติแล้ว ทางเทศบาลคงจะนำมาใช้เป็นเรื่องสุดท้าย
“เรื่องที่กระทบตอนนี้เป็นงบประมาณของปี 63 และจะกระทบไปถึงปี 64 ที่จะกระทบหนักแน่ เพราะว่าในปี 64 เราตั้งงบในเรื่องของการพัฒนาถึง 150 ล้านบาท หากไม่มีเงินตรงนี้ ก็เหมือนไม่มีการพัฒนาเมือง และงบตรงนี้ก็จะหายไปอย่างสิ้นเชิง แต่ทั้งนี้ขณะนี้เราพยายามที่จะพูดถึงเรื่องงบพัฒนาก่อน เช่น โครงการก่อสร้างไหนที่เราทำไว้ เราต้องสงวนสิทธิ์ที่หมายความถึง รองบประมาณมาแล้วค่อยเซ็นสัญญา ส่วนที่ 2 คือในเรื่องของโครงการในเรื่องของงบประมาณ เรื่องของค่าใช้จ่าย ที่เราจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายลง ซึ่งเรากำลังดูว่าใน 2 เดือนข้างหน้า รัฐจะสนับสนุนงบมาชดเชยให้หรือไม่ หากไม่มีก็คงต้องใช้เงินสะสมของเทศบาล แต่ทุกเทศบาลก็ใช่ว่าจะใช้เงินสะสมได้ทั้งหมด เพราะว่าบางเทศบาลก็ไม่มี”
นายอิทธิพนธ์ กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับโครงการพัฒนาที่จะต้องชะลอออกไป ในปีนี้เราตั้งงบประมาณไว้จ่ายในเรื่องของ การนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน เฟส 2 ที่ตั้งไว้ประมาณ 20 ล้านบาท และยังมีเรื่องที่เรากำลังประกวดราคาในเรื่องของ การก่อสร้างถนน ท่อระบายน้ำต่าง ๆ ก็จะต้องชะลออกไปก่อนเช่นกัน