หม่อมเจ้าอุทัยกัญญา ภาณุพันธุ์ เสด็จบำเพ็ญกุศล เนื่องในงานบุญพิธีตรุษสารท
2 ก.ย. 2563, 15:44
วันนี้ 2 กันยายน 2563 หม่อมเจ้าอุทัยกัญญา ภาณุพันธุ์ เสด็จบำเพ็ญกุศล ณ วัดเขาสุกิม ต.เขาบายศรี อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เนื่องในงานบุญพิธี ขึ้น15ค่ำ เดือน10 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่บูรพกษัติยาธิราชเจ้า และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ และด้วยความกตัญญุตาต่อบุพการี โดยมีพระครูกันตรัตนาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเขาสุกิม บรรยายสอนธรรมในการนี้
ประวัติงานบุญพิธีแต่โบราณ
วันพระขึ้น 15 ค่ำ เดือน10 มีคำเรียกแตกต่างกันตามแต่ละภาค เช่น ภาคกลาง เรียกตรุษสารท ภาคเหนือ เรียกสิบสองเป็ง ภาคใต้ เรียกประเพณีเดือนสิบชิงเปรต และทางภาคอีสานก็คือ ประเพณีบุญข้าวประดับดิน ประเพณีที่กล่าวมานี้ โดยความหมาย และจุดประสงค์เป็นอันเดียวกัน ต่างกันด้วยวิธีการทำตามจารีตประเพณีที่เคย ทำมาในท้องถิ่นของตน โดยมีความเชื่อว่าในวันเดือน 10 ขึ้น 1 ค่ำ ถึงแรม 14 ค่ำนั้น พระยายมราชได้ปล่อยวิญญาณสัตว์ ผู้ตายกลับมาสู่เมืองมนุษย์เพื่อขอรับเอาส่วนบุญกุศลจากญาติพี่น้องลูกหลาน จะได้พ้นจากภาวะแห่งเปรตอสุรกายทั้งหลาย ดังนั้นการปฏิบัติประเพณีก็ด้วยความกตัญญูต้องการให้บุคคลผู้เป็นที่รักพบกับความสุขในปรโลก มีความเชื่อว่าญาติพี่น้องหรือบรรพบุรุษจะมารับส่วนบุญกุศลที่ลูกหลานญาติพี่น้องได้ทำบุญไปให้
ซึ่งประเพณีนี้ชาวไทยโดยทั่วไปเรียกว่าประเพณี "สารท"
เดือนสิบของสังคมไทย คงจะเกิดขึ้นตามพระพุทธานุญาตของพระพุทธองค์ และด้วยเหตุผลในทำนองเดียวกันกับที่ชาวอินเดียมีประเพณีเปตพลี เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูต่อบุพการีนั่นเอง
ตำนานทางพระพุทธศาสนากล่าวถึง เปรตราชของพระราชาพิมพิสารไว้ดังนี้ ในกัลปที่ 92 นับแต่ภัทรกัลป์ขึ้นไปถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่า “ปุสสะ” พระพุทธบิดาทรงพระนามว่า “พระเจ้าชยเสนะ” พระพุทธมารดามีพระนามว่า “ศิริมา” พระเจ้าชยเสนะยังมีพระราชบุตรอีก 3 พระองค์ ต่างพระมารดาและเป็นพระกนิษฐาภาดาของพระปุสสะพระพุทธเจ้า ราชบุตรทั้ง 3 นี้ มีเจ้าพนักงานรักษาคลังหนึ่งเก็บส่วยในชนบท กาลต่อมาพระราชบุตรทั้งสามมีพระราชประสงค์จะบำเพ็ญกุศลบำรุงพระศาสนา ผู้เป็นพระเชษฐภาดา ตลอดไตรมาส จึงขอทูลอนุญาตแก่พระบิดา เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว พระราชบุตรทั้งสามจึงตรัสสั่งเจ้าพนักงานผู้เก็บส่วย ในชนบทของพระองค์ให้สร้างวิหาร ครั้งสร้างเสร็จแล้วพระราชบุตรทั้งสามจึงนำเสด็จพระพุทธเจ้าไปที่วิหาร และทูลถวายวิหารแก่พระศาสดาแล้วสั่งเจ้าพนักงานรักษาพระคลัง และพนักงานเก็บส่วยว่าเจ้าจงดูแล และจัดของเคี้ยวของฉันถวายพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยภิกษุ 90,000 องค์ที่เป็นพุทธบริวาร และตัวเราทั้งสามกับบริวารทุก ๆ วัน ตลอดจนไตรมาสด้วย ตั้งแต่วันนี้ไปเราจักไม่พูดอะไร แล้วก็พาบริวาร 1,000 องค์ สมาทานศีล 10 ประทับอยู่ในวิหารตลอดไตรมาส ส่วนเจ้าพนักงานรักษาพระคลัง และเจ้าพนักงานเก็บส่วย ผลัดกันดูแลทานวัตต์ตามความประสงค์ของพระราชบุตรทั้งสามด้วยความเคารพ ครั้งนั้นชาวชนบทบางพวกจำนวน84,000 คน ได้ทำอันตรายต่อทานวัตต์ของพระราชบุตรทั้งสาม เช่น กินเครื่องไทยธรรมเสียเองบ้าง ให้แก่บุตรเสียบ้าง เผาโรงครัวบ้าง ชนเหล่านั้นครั้นทำลายธาตุขันธ์แล้วจึงไปบังเกิดในนรก
กาลล่วงไปถึง 92 กัลป จนถึงกัลปนี้ ในพระพุทธศาสนาพระกัสสะปะสัมมาสัมพระพุทธเจ้า ชนเหล่านี้มีจิตอันอกุศลเบียดเบียนแล้วนั้น ได้มาบังเกิดในหมู่เปรต ครั้งนั้นมนุษย์ทำบุญให้ท่านอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติที่เป็นเปรตของตน เปรตเหล่านั้นก็ได้ซึ่งทิพย์สมบัตินานาประการ แต่หมู่เปรตผู้ทำลายเครื่องไทยธรรมพระราชบุตรทั้งสามนั้นหาได้รับส่วนกุศลไม่เปรตเหล่านั้นจึงทูลถามพระกัสสปะพุทธเจ้าว่า ข้าพระพุทธเจ้านี้ พึงได้สมบัติอย่างนี้ บ้างหรือไม่พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าท่านทั้งหลายยังไม่ได้สมบัติ บัดนี้ ต่อไปภายหน้าพุทธกาลแห่งพระโคดมพระพุทธเจ้าญาติของท่านทั้งหลายจักได้เป็นพระราชา ทรงพระนามว่า “พิมพิสาร” และจักได้ถวายทาน แด่พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น แล้วอุทิศส่วนบุญถึงท่านทั้งหลาย เมื่อนั่นแหละท่านจะได้สมบัติดังนี้
เมื่อการล่วงมาได้พุทธันดรหนึ่งถึงพระพุทธศาสนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานี้เจ้าพนักงานผู้เก็บส่วยของพระราชบุตรทั้งสามได้มาบังเกิดเป็นพระเจ้าพิมพิสาร เมื่อพระเจ้าพิมพิสารได้ฟังเทศนาของพระพุทธเจ้าก็ได้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลและได้ถวายไทยธรรมแก่พระพุทธเจ้า แต่หาได้อุทิศส่วนกุศลให้แก่เปรตที่เป็นญาติไม่ เปรตที่เป็นญาติเหล่านั้นมาคอยรับส่วนกุศลอยู่ทุกเมื่อก็มิได้รับส่วนกุศลตามความปรารถนาก็เสียใจพอถึงเวลาตีหนึ่งก็ส่งเสียงร้องประหลาดน่าสะพรึงกลัว ครั้นรุ่งสางขึ้นพระเจ้าพิมพิสารจึงอาราธนาพระพุทธเจ้าให้เข้าไปรับเครื่องไทยธรรมในพระราชนิเวศน์ เมื่อพระราชาทรงกระทำทักษิโณทกแล้ว ทรงอุทิศว่าทานนี้จงถึงหมู่ญาติของเรา ขณะนั้นฝูงเปรตที่มีความกระวนกระวาย และร่างกายที่น่าเกลียดน่ากลัวก็สูญหายไป กลับมีผิวพรรณงามผ่องใสดั่งทอง แล้วพระราชาถวายยาคูและของเคี้ยวอุทิศถึงญาติอีก ยาคูและของเคี้ยวอันเป็นทิพย์ก็เกิดขึ้นในสำเร็จประโยชน์แก่ฝูงเปรตที่เป็นญาติเหล่านั้น แล้วพระราชาถวายผ้าและเสนาสนะทรงอุทิศถึงญาติอีก ผ้าและเครื่องเสนาอาสนะปราสาทล้วนแต่เป็นทิพยาให้สำเร็จประโยชน์แก่ฝูงเปรตเหล่านั้นได้ประสบความสุข พระเจ้าพิมพิสารก็ทรงโสมนัสยิ่งนัก ในครั้งนั้น เรื่องสืบมาว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมเทศนาติโรกัณฑสูตร ทรงสรรเสริญทานที่ทายกอุทิศบริจาคแก่ญาติที่ตายไปแล้วอีกหลายวัน แล้วกล่าวคำอุทิศถึงญาติว่า “อิทํ โน ญาตีนํ โหตุ สุขิตา ญาตโยฯ” ทานนี้จงถึงญาติทั้งหลาย (ที่เกิดในเปรตวิสัย) ขอญาติเหล่านั้นจงมีความสุข(คือได้เสวยผลแห่งทานด้วยความสำรวม) อนึ่งผู้ที่บริจาคทานนั้นก็หาไร้ผลไม่ เป็นการสร้างสมบุญกุศลให้เพิ่มยิ่งขึ้น กลับมีบุญกุศลยิ่งใหญ่ให้ผู้อื่นได้อนุโมทนาอีก การร้องไห้เศร้าโศกปริเวทนา หาผู้ที่ตายไปไม่เป็นประโยชน์อย่างไรแก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว มีแต่การทำบุญอุทิศกุศลเท่านั้นจะได้ผลแก่เขาในปรภพแล