ร่วมยินดี! "สุกัญญา เจริญวีรกุล" อุบาสิกาหญิงคนแรกที่เรียนจบบาลีศึกษา 9 ประโยค
6 ก.ย. 2563, 13:24
เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2563 พระสุทธิพงษ์ อภิปุญฺโญ ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ค ชื่นชมและแสดงความยินดีกับอุบาสิกาหญิง สุกัญญา เจริญวีรกุล ที่สอบผ่านและเรียบจบบาลีศึกษา 9 ประโยค โดยข้อความทั้งหมดมีดังนี้
ขอชื่นชมและแสดงความยินดีกับอุบาสิกาหญิงคนแรกของประเทศไทยที่สามารถเรียนจบ บาลีศึกษา 9 ประโยคได้
"อุบาสิกา สุกัญญา เจริญวีรกุล" สุกัญญา เจริญวีรกุล เป็นอุบาสิกาผู้ศึกษาภาษาที่ใช้บันทึกคัมภีร์พระพุทธศาสนามาตั้งแต่เด็ก ๆ ทั้งบาลี สันสกฤต และทิเบต และมีโอกาสได้เล่าเรียนในสำนักเรียนของวัดต่าง ๆ หลายแห่ง จนสามารถเรียนจบบาลีศึกษา ๙ ประโยค เป็นผลสำเร็จได้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา (พ.ศ.๒๕๖๓) ขณะมีอายุได้ ๒๕ ปี รวมเวลาเรียนแผนกบาลีทั้งหมด ๑๐ ปี ๓ เดือน ด้วยความที่เธอเป็นทั้งฆราวาสและเป็นผู้หญิง การศึกษาบาลีในสำนักเรียนของวัดต่าง ๆ จึงเป็นที่สนใจของคนไม่น้อย บ้างก็เข้าใจถูกบ้างก็เข้าใจผิด!!
มหาเปรียญผูัหญิง ขอเอ่ยนามให้เป็นเกียรติแก่เธอผู้นี้ นางสาวสุกัญญา เจริญวีรกุล สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค การเรียนพระปริยัติแผนกบาลี เป็นเรื่องที่ยากมากการที่พระหรือเณรจะสอบมหาเปรียญได้นั้นจะต้องผ่านการเรียนมาอย่างหนัก ต้องแตกฉานในข้ออรรถข้อธรรม ต้องท่องจำมาอย่างหนัก จึงจะสอบผ่าน และได้รับการตั้งเป็นเปรียญ แต่เธอผู้นี้เป็นผู้หญิง หมายความว่าเธอต้องเรียน ต้องท่องจำ ข้ออรรถข้อธรรมมาอย่างหนัก จึงสอบผ่านบาลีศึกษาได้เรียญธรรม ดังนั้น เปรียญธรรม ๙ ประโยค ที่เธอได้รับการแต่งตั้งและพัดขาวอันนี้ จึงเป็นเครื่องบ่งบอกได้เลยว่าเป็นคนดี น่าภาคภูมิใจสำหรับพ่อแม่และคนที่ได้เป็นแฟน การเป็นเปรียญธรรมได้นั้น ความสวยใช้ไม่ได้เหมือนการเรียนทางโลกครับ ต้องความรู้ความสามารถล้วนๆ ขอยกย่องเธอผู้นี้ครับ
หากเธอผู้นี้เป็นผู้ชาย และเป็นพระหรือเณรพัดที่เธอได้รับจะเป็นพัดสีเหลืองด้ามดำเหมือนที่พระถืออยู่ด้านหลัง หากเป็นสตรีพัดจะเป็นสีขาว
มีผู้ข้องใจถามว่า ฆราวาส เรียนได้ด้วยหรือ จึงขอตอบว่า ฆราวาส สามารถสมัครเรียนได้ทุกคนตามวัดที่เป็นสำนักเรียน ไม่จำกัดแค่พระหรือเณร ฆราวาสก็สามารถเรียนได้ ถ้าทนได้ปัญญาดี เพราะการเรียนปริยัติธรรมเป็นเรื่องยาก ต้องท่องจำจนแตกฉาน มีสองแผนก สายธรรมกับสายบาลี สายธรรมจะจบที่นักธรรมชั้นเอก สายบาลีจะจบที่ เปรียญธรรม ๙ ประโยค สายธรรมหากเป็นพระหรือเณรสอบได้จะเรียกนักธรรม ชั้นตรี โท หรือเอก หากฆราวาสสอบได้จะเรียกธรรมศึกษา ชั้นตรี โท หรือเอก สายบาลีหากเป็นพระหรือเณรสอบได้จะเรียก ประโยค ๑-๒ ถึง ประโยค ๙ หากฆราวาสสอบได้จะเรียกบาลีศึกษา ประโยค ๑-๒ ถึงประโยค ๙ การเรียนรวมกันกับพระ เรียนเหมือนกัน สอบด้วยกัน รับพระราชทานพัดยศแบบเดียวและที่เดียวกัน ส่วนพัดยศของพระหรือเณรเมื่อรับแล้วท่านจะนำไปใช้งานได้ ส่วนของฆราวาสนั้นให้เพื่อเป็นที่ระลึกเพื่อให้รู้ว่ามีคุณสมบัติชั้นนั้น ขอสรุปว่าประชาชนและฆราวาสทั่วไปเรียนได้
มีนักข่าวถามว่า เป้าหมายส่วนตัวในการศึกษาบาลีคืออะไร
สุกัญญา : ต้องการเป็นนักแปลคัมภีร์พระพุทธศาสนาและล่ามพระธรรมเทศนา ผู้เชี่ยวชาญภาษาพระปริยัติธรรม โดยเฉพาะภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต และภาษาทิเบต เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา และเพื่อเป็นปัจจัยให้สรรพชีวิตข้ามพ้นจากมหาสมุทรแห่งความทุกข์ในสังสารวัฏ
นอกจากภาษาบาลี เราเรียนภาษาทิเบตและภาษาสันสกฤตด้วย เพราะมีความสนใจในพระพุทธศาสนาหลายนิกาย ถ้าเราเข้าใจว่าคนที่เกิดมาบนโลกนี้ไม่ได้เหมือนกันทุกคน หนทางที่เหมาะสมกับคนหนึ่งอาจไม่เหมาะสมกับอีกคนหนึ่ง และเข้าใจว่าพระพุทธศาสนามีหนทางต่าง ๆ กัน ที่เหมาะสมสำหรับคนแต่ละประเภท เราก็จะรู้ว่าคำสอนในพระพุทธศาสนาแต่ละนิกายคือหนทางที่ต่างกัน ตามความเหมาะสมกับคนแต่ละประเภท แต่นำพาคนไปสู่ “จุดหมายปลายทาง” คือการบรรลุธรรมเช่นเดียวกัน
ดังนั้นไม่มีหนทางใดประเสริฐกว่าหนทางใด ไม่มีประโยชน์อันใดเลยที่จะสร้างความขัดแย้งหรือแข่งดีกัน พวกเราชาวพุทธทุกนิกายควรจะรักเมตตาสามัคคีกัน ควรเผื่อแผ่ความรักของเราไปถึงคนที่นับถือศาสนาอื่นและคนที่ไม่ได้นับถือศาสนาด้วย เราเป็นปุถุชนธรรมดา ไม่อาจเป็นครูบาอาจารย์ในพระศาสนานี้ได้ สิ่งที่เราทำได้ก็มีเพียงแต่การฝึกแปลบทสวดบทปฏิบัติและเป็นล่ามแปลคำสอนของครูบาอาจารย์ที่เราได้พิจารณาอย่างรอบคอบมานานปี...
น่าภาคภูมิใจแทนพ่อแม่ของเธอ ขออนุโมทนาบุญด้วยสาธุๆๆ...