พระเลี้ยงปลาแม่น้ำโขงจากข้าวก้นบาตร ดีใจชาวบ้านร่วมอนุรักษ์ ตั้งกฎจับขโมยปรับ 5 พัน
8 ก.ย. 2563, 10:26
สืบเนื่องจาก พระรังษี คุณานะโร อายุ 76 ปี จำพรรษาอยู่ที่พักสงฆ์พนอมวนาธรรม หรือวัดป่าบ้านพนอมท่า หมู่ 3 ต.พนอม อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม นำข้าวก้นบาตรหลังจากฉันภัตตาหารมาหว่านลงในแม่น้ำโขง ก็ปรากฏว่ามีฝูงปลาจำนวนมากมาตอดกิน จนกลายเป็นวังปลาขนาดใหญ่ กระทั่งประมงจังหวัดนครพนมนำทุ่นมาลอยเป็นสัญลักษณ์เขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา ภายหลังมีคนใจบาปแอบลอบเข้ามาทำลายทุ่นในยามวิกาล ใช้สวิงขนาดใหญ่ตักปลาใส่จนเต็มลำเรือ โดยที่พระรังษีลุกขึ้นมายืนดูมนุษย์ใจบาปด้วยน้ำตานองหน้า เหตุที่ไม่กล้าโวยวายเพราะเกรงจะถูกทำร้าย ตามที่เสนอข่าวไปแล้ว
คืบหน้าล่าสุด วันที่ 8 กันยายน 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลังจากที่กลายเป็นข่าว นายสมพงษ์ มาสกุล ผู้ใหญ่บ้านพนอมท่าหมู่ 3 เรียกประชุมลูกบ้านเพื่อหาหนทางแก้ไข มติในที่ประชุมเห็นพ้องกันว่า จะต้องอนุรักษ์พันธุ์ปลาหน้าสำนักสงฆ์แห่งนี้ไว้ เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ โดยมีป้ายเขตอภัยทานติดไว้อย่างชัดเจน พร้อมกันนี้ได้ตั้งกฎของหมู่บ้านว่าถ้าจับหัวขโมยเข้ามาลักปลาได้ ต้องเสียค่าปรับเป็นเงินจำนวน 5,000 บาท
นายสิทธิวัฒน์ ไชยศล ข้าราชการบำนาญ ที่ปรึกษาประจำตำบลพนอม ได้เปิดเผยว่าหลังมติในที่ประชุมของหมู่บ้านเป็นเอกฉันท์แล้ว ก็เร่งดำเนินการด้วยการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ สำหรับใช้ส่องสว่างยามค่ำคืน พร้อมกันนี้ชาวบ้านพนอมท่าต่างรวมพลัง ช่วยกันตัดลำไม้ไผ่ใช้มาวางเป็นทุนแทนอันเดิมที่เสียหาย และมีกล้องวงจรปิดติดไว้ ขณะนี้กำลังพัฒนาบริเวณดังกล่าว แล้วเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดฯมาเป็นประธานเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว
ด้าน นายประจักษ์ สุวรรณบุผา มัคทายกวัดฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ชาวบ้านพนอมท่าต้องการอนุรักษ์พันธุ์ปลาในแม่น้ำโขงไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษาเรียนรู้ หลังทุกคนทราบข่าวว่ามีคนเข้ามาขโมยปลาก็รู้สึกเสียใจ แม้ตอนนั้นจะไม่มีป้ายบอกเป็นเขตอภัยทาน แต่ด้วยจิตสำนึกควรจะมีบ้าง จึงได้ตั้งชาวบ้านจิตอาสาตระเวนตรวจตราในตอนกลางคืน
พระรังสีผู้เริ่มต้นการเลี้ยงปลาจากข้าวก้นบาตร กล่าวว่ารู้สึกดีใจที่มีญาติโยมชาวบ้านพนอมท่า ช่วยกันคนไม้ละมือปกป้องวังปลาแห่งนี้ หลังเป็นข่าวมีผู้คนแวะมาดูฝูงปลากันเป็นจำนวนมาก จึงน่าจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้
พระอาจารย์ชู ปภาโส อายุ 63 ปี พรรษาที่ 14 เจ้าสำนักสงฆ์วัดป่าพนอมท่า เปิดเผยว่าบริเวณที่พักสงฆ์แห่งนี้เดิมเป็นป่าช้าเก่า ต่อมามีพระธุดงค์เข้ามาปักกลดปลีกวิเวกวิปัสนากรรมฐานอยู่เป็นประจำ ชาวบ้านจึงร่วมใจกันพัฒนาจนกลายมาเป็นสำนักสงฆ์ที่ร่มรื่นด้วยต้นไม้เบญจพรรณ ขณะนี้ทางวัดกำลังจะสร้างศาลาสำหรับพระภิกษุปฏิบัติศาสนกิจตรงแท่นหมู่พระประธานใหญ่ จึงใช้โอกาสนี้บอกบุญถึงญาติโยมผู้มีจิตศรัทธา ร่วมบริจาคคนละเล็กละน้อย หรือสอบถามโดยตรงได้ที่เบอร์ 094-3803888