มท.3 มอบนโยบายปลัดจว.-นอภ.ทั่วประเทศ ย้ำหน้าที่ "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" ให้ปชช.
14 ก.ย. 2563, 18:46
วันนี้ ( 14 ก.ย.63 ) เวลา 11:00 น. ที่อาคาร Exhibition Hall 5 อิมแพ็ค เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย บรรยายและมอบนโยบายการประชุมเชิงปฏิบัติการปลัดจังหวัด นายอำเภอ และผู้บริหารส่วนกลาง เพื่อขับเคลื่อนภารกิจและนโยบายสำคัญของรัฐบาลสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยมี นายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ปลัดจังหวัด นายอำเภอ และผู้บริหารส่วนกลาง ของกรมการปกครอง รวม 1,074 คน ร่วมประชุม
นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มท. กล่าวว่า ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสพบปะกับปลัดจังหวัด นายอำเภอ และผู้บริหารส่วนกลางของกรมการปกครอง โดยพร้อมเพรียงกันในวันนี้ ข้าราชการกรมการปกครอง โดยเฉพาะในส่วนภูมิภาคเปรียบเสมือนกลไกหลักของกระทรวงมหาดไทยในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล กระทรวงมหาดไทย และนายอำเภอถือหัวหน้าผู้บังคับบัญชาของข้าราชการในอำเภอ โดยมีเป้าหมายสูงสุดในการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่คือ เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้แก่พี่น้องประชาชนผมจึงถือโอกาสนี้ในการฝากภารกิจของกรมที่กระผมได้กำกับดูแลโดยขอเน้นย้ำให้นายอำเภอช่วยดำเนินการขับเคลื่อนในพื้นที่ ดังนี้
1. ภารกิจด้านการพัฒนาชุมชน
2. ภารกิจด้านโยธาธิการและผังเมือง โคก หนอง นา โมเดล คือ การจัดการพื้นที่ซึ่งเหมาะกับพื้นที่การเกษตร ซึ่งเป็นผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่ เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้านที่อยู่อย่างสอดคล้องกับพื้นที่นั้น ๆ โดยเป็นแนวทางที่ให้ธรรมชาติจัดการตัวเองโดยมีมนุษย์เป็นส่วนส่งเสริมให้มันสำเร็จเร็วขึ้น อย่างเป็นระบบ
โคก หนอง นา โมเดล ซึ่งเป็นแนวทางทำเกษตรอินทรีย์และการสร้างชีวิตที่ยั่งยืน โดยมีองค์ประกอบ ดังนี้
1. โคก: พื้นที่สูง ดินที่ทำการขุดทำหนองน้ำนั้นให้นำมาทำโคกแล้วให้พื้นที่บนโคกปลูก “ป่า 3 อย่าง ประโยชน์
4 อย่าง” ตามแนวทางพระราชดำริ หรือทำการเกษตรตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และสร้างที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ
2. หนอง: หนองน้ำหรือแหล่งน้ำ พัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ ทั้งการขุดลอก หนอง คู คลอง เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้ง และเพิ่มการระบายน้ำยามน้ำหลากขุดหนองเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ และเป็นที่รับน้ำยามน้ำท่วม (หลุมขนมครก)
3. นา: เป็นพื้นที่ที่ใช้ปลูกข้าวอินทรีย์พื้นบ้าน โดยดำเนินการตามแนวทางการทำเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืน
ขอให้ปลัดจังหวัดและนายอำเภอขับเคลื่อนและขยายผลโครงการ โคก หนอง นา โมเดล โดยขอให้ปรับใช้ตามแนวทางของการพัฒนาพื้นที่ตามลักษณะ “ภูมิสังคม” ของแต่ละแห่งจึงขอให้ปลัดจังหวัด และนายอำเภอ ส่งเสริมการพัฒนากลไกเศรษฐกิจฐานราก ดังนี้
การสร้างชุมชนเข้มแข็ง ขอให้นายอำเภอเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในพื้นที่ พร้อมทั้งขอให้สนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของพัฒนากรอำเภอด้วย
ขอให้นายอำเภอส่งเสริมการประกอบอาชีพของชาวบ้านให้มีอาชีพหลักที่สามารถเลี้ยงชีพได้ พร้อมสนับสนุนให้มีอาชีพรอง อาชีพเสริมตลาดชุมชน
ขอให้นายอำเภอตรวจสอบตลาดชุมชนในพื้นที่ว่ามีพอเพียงต่อการทำการค้าขายของประชาชนหรือไม่ กรณีมีเพียงพอให้ช่วยปรับปรุงตลาดให้ได้มาตรฐานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดการหมุนเวียน หากในพื้นที่ใดไม่มีตลาดชุมชนหรือไม่เพียงพอให้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางแก้ไข หรือรายงานมาที่ มท. เพื่อหาวิธีช่วยเหลือต่อไป
กลไกประชารัฐ
เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยนายอำเภอต้องเข้าใจกลไก/บทบาทของแนวทางประชารัฐ และช่วยผลักดัน สนับสนุนการดำเนินงานทั้งในเรื่องการเกษตร การแปรรูป และการท่องเที่ยวเพื่อให้การพัฒนาเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนในพื้นที่
ขอให้นายอำเภอดำเนินการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามนโยบายประชารัฐ โดยเน้นย้ำการพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน OTOP ให้ได้มาตรฐาน เพื่อให้สินค้า OTOP มีราคาที่สูงขึ้น อันจะทำให้ประชาชนมีรายได้มากขึ้น ขอให้นายอำเภอสนับสนุนการดำเนินการท่องเที่ยวในพื้นที่ การจัดชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี สนับสนุนการต่อยอดผลิตภัณฑ์เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน
สุดท้าย นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มท. เน้นย้ำว่า ปลัดจังหวัดและนายอำเภอถือเป็นกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนภารกิจสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยในระดับพื้นที่ โดยมีบทบาทในฐานะผู้จัดการพื้นที่ “Area Manager” ที่จะปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ ให้บรรลุผล และ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับประชาชนต่อไป
ขอขอบคุณปลัดจังหวัดและนายอำเภอ และเป็นกำลังใจให้ทุกท่านร่วมกันขับเคลื่อนภารกิจด้วยความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาและพัฒนางานอย่างเต็มความสามารถเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล กระทรวงมหาดไทย และกรมการปกครอง สู่การปฏิบัติในพื้นที่ต่อไป