ครม.ไฟเขียว แก้ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติปี 47 "บิ๊กตู่" ลั่นจะทำให้ปชช.ยอมรับมากขึ้น
15 ก.ย. 2563, 17:24
วันนี้ ( 15 ก.ย.63 ) เวลา 13.15 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่มีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุม โดยหนึ่งในวาระสำคัญเป็นการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. .... ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เสนอ
ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นการปรับปรุง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 และมีประเด็นเกี่ยวกับการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจ และการพิจารณาบำเหน็จความชอบมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน เพื่อให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ มาตรา 258 ง. ด้านกระบวนการยุติธรรม ซึ่ง สตช.ได้ปรับปรุงแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว
ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ มีการแก้ไขในประเด็นสำคัญ 3 ประการ คือ
1. การบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจ มีการแบ่งสายงานเพื่อให้ข้าราชการตำรวจในแต่ละสายงานให้สามารถเจริญเติบโตตามสายงานด้วยความรู้ความชำนาญในสายงานของตนให้ชัดเจน แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มสายงาน คือ กลุ่มสายงานบริหาร กลุ่มสายงานอำนวยการและสนับสนุน กลุ่มสายงานสอบสวน กลุ่มสายงานป้องกันและปราบปราม แล กลุ่มสายงานวิชาชีพเฉพาะ (ซึ่งเดิมไม่มีการกำหนด) ทั้งนี้ ให้กำหนดกระบวนการในการแต่งตั้งและการเลื่อนตำแหน่งให้ชัดเจน โดยคำนึงถึงอาวุโสความรู้ความสามารถ และความพึงพอใจในบริการที่ประชาชนได้รับ และมีการกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินที่ชัดเจน เพื่อเป็นการลดการใช้ดุลพินิจของผู้บังคับบัญชา รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกระบวนการแต่งตั้ง และการเลื่อนตำแหน่งของสายงานสอบสวนไว้เป็นการเฉพาะ (จากเดิมไม่มีการกำหนด)
2. ปรับปรุงระบบคณะกรรมการ ยกเลิกคณะกรรมกา เดิม คือ คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) โดยให้มีเพียงคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ทำหน้าที่ทั้งในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การบริหารราชการตำรวจ และกำกับดูแล สตช. ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย นโยบาย ยุทธศาสตร์ชาติ มติ ครม. และระเบียบแบบแผน รวมทั้งกำหนดนโยบายและมาตรฐานการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจและจัดระบบราชการตำรวจ กำกับดูแลการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจ ตลอดจนกำกับดูแลการจัดสรรงบประมาณให้แก่ส่วนราชการในหน่วยปฏิบัติให้เพียงพอ
ให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ เพื่อพิจารณาวินิจฉัย อุทธรณ์เรื่องร้องทุกข์ รวมทั้งการกำหนดระบบคุณธรรมเพื่อเป็นที่พึ่งของข้าราชการ ตำรวจในการปลดเปลื้องทุกข์ของข้าราชการตำรวจที่เกิดจากผู้บังคับบัญชา
ให้มีคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ เพื่อเป็นกลไกสำหรับประชาชน ในการร้องเรียนการปฏิบัติที่ไม่ชอบของข้าราชการตำรวจอันเป็นการปลดเปลื้องทุกข์ ของประชาชน
3.การเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชน ปรับปรุงการจัดระเบียบราชการใน สตช. ใหม่ โดยแบ่งส่วนราชการออกเป็น ระดับกองบังคับการตำรวจนครบาล ตำรวจภูธรจังหวัด และสถานีตำรวจ จากเดิม แบ่งเป็น สำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และกองบัญชาการ เพื่อเป็นหน่วยงานที่ให้บริการประชาชนและใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด จะช่วยให้การบริการ ประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น กำหนดให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในกิจการตำรวจ โดยการให้เงินอุดหนุนแก่ สถานีตำรวจเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจในสถานีตำรวจนั้น ที่จะได้ร่วมกับท้องถิ่นในการจัดทำแผนหรือมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ที่สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละท้องถิ่น หรือชุมชน
จัดตั้ง “กองทุนเพื่อการสืบสวน สอบสวน การป้องกันและปราบปราม การกระทำความผิดทางอาญา” เพื่อเป็นแหล่งสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่ ของข้าราชการตำรวจ
โดยในระหว่างการพิจารณาวาระดังกล่าว พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ระบุว่า ดี จะทำให้ประชาชนยอมรับตำรวจมากยิ่งขึ้น และได้รับความไว้วางใจยิ่งขึ้น
ที่มา : แนวหน้า