เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"กอปภ.ก." ประสาน 60 จังหวัดเฝ้าระวัง พายุโซนร้อน "โนอึล" 17 – 20 ก.ย. 63


16 ก.ย. 2563, 14:41



"กอปภ.ก." ประสาน 60 จังหวัดเฝ้าระวัง พายุโซนร้อน "โนอึล" 17 – 20 ก.ย. 63




ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 60 จังหวัดภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ เฝ้าระวังผลกระทบจากพายุโซนร้อน “โนอึล” ที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และคลื่นลมแรงในช่วงวันที่ 17 – 20 ก.ย. 63 โดยให้ศูนย์ ปภ.เขต ในพื้นที่ร่วมกับจังหวัดติดตามสภาพอากาศปริมาณฝน ระดับน้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็วเครื่องมืออุปกรณ์เข้าประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ติดตามสภาพอากาศ และปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่กับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า พายุโซนร้อน “โนอึล” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง เคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อย คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามตอนกลาง และจะเคลื่อนเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในวันที่ 18 – 20 กันยายน 2563 สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมแรงบางพื้นที่ ปริมาณฝนสะสมอาจทำให้เกิดสถานการณ์อุทกภัย ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ปริมาณฝนสะสมอาจทำให้เกิดสถานการณ์อุทกภัย ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น โดยอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร และทะเลอันดามัน มีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง คลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร กอปภ.ก. จึงได้ประสานจังหวัดเฝ้าระวังสถานการณ์ภัย ดังนี้



พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง 60 จังหวัด ในช่วงวันที่ 18 – 20 กันยายน 2563 ประกอบด้วย ภาคเหนือ 17 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร สุโขทัย ตาก นครสวรรค์ และอุทัยธานี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคกลาง 9 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และนครนายก ภาคกลาง 7 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ 7 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์คลื่นลมแรง 10 จังหวัด ในช่วงวันที่ 17 – 20 กันยายน 2563 ประกอบด้วย ภาคตะวันออก 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ 6 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

โดยบูรณาการหน่วยงาน เครือข่าย จิตอาสา ภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เตรียมพร้อมทรัพยากร เครื่องจักรกลสาธารณภัย และแผนเผชิญเหตุ รวมถึงเจ้าหน้าที่ให้พร้อมปฏิบัติงาน บรรเทาภัย อำนวยความสะดวก และให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมประสานให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ติดตามข้อมูลสภาวะอากาศและข่าวสารจากทางราชการ รวมถึงเฝ้าระวังสถานการณ์ฝนตกหนักและปริมาณฝนตกสะสม โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำที่อาจได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขัง พื้นที่ลาดเชิงเขา อาจได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก พร้อมแจ้งเตือนประชาชนบริเวณชายฝั่งทะเลให้ระวังอันตรายจากคลื่นลมแรง สำหรับชาวเรือ ผู้บังคับเรือ ผู้ประกอบการเดินเรือโดยสาร ให้ตรวจสอบความพร้อมก่อนออกเดินเรือ เดินเรือด้วยความระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และ เรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ ทั้งนี้ สามารถติดต่อแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสาขาในพื้นที่ หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป







Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.