เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



รมว.อว.ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาในการพัฒนาประเทศชาติ"


17 ก.ย. 2563, 15:11



รมว.อว.ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาในการพัฒนาประเทศชาติ"




วันนี้ ( 16 ก.ย.63 ) ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) กล่าวปาฐกถาพิเศษเกี่ยวกับนโยบายและทิศทาง "มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาในการพัฒนาประเทศชาติ" ณ หอประชุม สุชีพปุญญานุถาพ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พุทธมณฑล นครปฐม

ศ.ดร.เอนก รมว.อว. กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาแห่งแรกของประเทศไทยเป็นมหาวิทยาลัยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ตั้งวิทยาลัยขึ้นและทรงพระราชทานนามให้อีกด้วย นอกจากนั้น พระองค์ทรงอุทิศพระราชทรัพย์บำรุงประจำปีและก่อสร้างสถานศึกษาวิทยาลัยแห่งนี้ขึ้น ทรงเสด็จมาเปิดและทรงรับมหามกุฏราชวิทยาลัยอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์และพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์บำรุงประจำปี ต่อมาพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ทรงให้การทำนุบำรุงและทรงให้ความสำคัญต่อมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยมาตลอด ดังชื่อนามว่า "ราชวิทยาลัย" (Royal College) นอกเหนือจากการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงนำเอาหลักธรรมพระพุทธศาสนาไปใช้ในการปกครองประเทศ เช่น หลักทศพิธราชธรรม หลักอปริหานิยธรรม โดยเฉพาะหลักธรรมาธิไตย ที่เป็นหลักในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยด้วยความเป็นธรรม

ในครั้งเริ่มแรกของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งแรกที่เริ่มประยุกต์หลักพระพุทธศาสนาให้เข้ากับสังคมสมัยใหม่ โดยจัดการศึกษาแบบสมัยใหม่ มีลักษณะแตกต่างจากการเล่าเรียนภาษาบาลี ตามประเพณีแบบเดิม จะเรียกว่า เปลี่ยนจากเดิมที่พระสงฆ์เน้นเรียน "ทางธรรม" ก็ให้เข้าใจ "ทางโลก" มากขึ้น เพื่อที่จะได้ใช้ธรรมะมาช่วยแก้ปัญหาของสังคมหรือพัฒนาประเทศแต่ในสมัยปัจจุบันโลกได้มีความซับซ้อนมากกว่าในอดีต (complex) และเปลี่ยนแปลงเร็วมาก (disruption) จนทำให้เกิด "ฐานวิถีชีวิตใหม่" หรือเรียกกันว่า New Normal ซึ่งทำให้วิถีชีวิตและสังคมเปลี่ยนจากอดีตอย่างสิ้นเชิง มหาวิทยาลัย พระพุทธศาสนาก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับการเรียนการสอนให้เข้ากับ New Normal นี้ ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงหรือการเพิ่มหลักสูตร/สาขาวิชาใหม่ การปรับปรุงวิธีการสอนในรูปแบบใหม่ หรือแม้แต่การสร้างสื่อการสอนแบบใหม่ด้วยระบบดิจิทัล อาทิ Twitter, YouTube, Facebook เป็นต้น เพื่อให้เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่ทันสมัยและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมและโลก



การพัฒนาประเทศในความเข้าใจของคนทั่วไป ส่วนใหญ่จะหมายถึงการทำให้ประเทศมีเศรษฐกิจดีด้วยตัวเลขทางเศรษฐกิจสูงๆ ความเหลื่อมล้ำทางสังคมน้อยๆ หรือคุณภาพของสิ่งแวดล้อมอยู่ในมาตรฐาน ดังนั้นประเทศจึงมุ่งไปที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ (physical infrastructure) แต่ที่จริงแล้ว การพัฒนาประเทศยังมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้ผู้คนในสังคมมีศีลธรรมจรรยา โดยการสร้างให้ประเทศมีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านศีลธรรม (moral infrastructure) ซึ่งมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานหรือสถาบันในการผลิตบุคลากรด้านศีลธรรมที่สำคัญของประเทศ บทบาทนี้ ไม่มีมหาวิทยาลัยไหนในประเทศจะทำได้ หรืออาจจะกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาเป็นสถานที่ที่ผลิต "ศาสนทายาท" ของศาสนาพุทธแห่งเดียวของประเทศ

"เพื่อเป็นการสนองต่อพระราชปณิธานของพระมหากษัตริย์ที่ทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา และเป็นการพัฒนามหาวิทยาลัยพุทธศาสนาตามพันธกิจของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ที่กระผมรับผิดชอบ กระผมก็จะพยายามสนับสนุนการจัดระบบอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาให้มีประสิทธิภาพ ทันสมัย ปรับระบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน การสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งการสนับสนุนทุนค่าเล่าเรียนต่อพระภิกษุสงฆ์เพื่อการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ

แม้ว่ากระผมจะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ที่ทางราชการกำหนดให้เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกระทรวง แต่กระผมขอปวารณาตนเองเป็นโยมอุปัฏฐากของมหาวิทยาลัยพุทธศาสนา การใดที่ผมพอที่จะทำได้เพื่อเป็นการสนับสนุนการพัฒนาของมหาวิทยาลัยพุทธศาสนา ขอท่านได้โปรดชี้แนะกระผมด้วย ขอกราบนมัสการด้วยความคารพอย่างสูง" ศ.ดร.เอนก กล่าว







Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.