เปิด 4 ขั้นตอนแผน "กรกฎ 52" รับม็อบ "19 กันยา"
18 ก.ย. 2563, 11:33
วันที่ 18 ก.ย. 2563 พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัชาการตำรวจนครบาล เปิดเผยว่า กรณีวันที่ 19 ก.ย. จะมีการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และวันที่ 20 ก.ย. จะมีการเคลื่อนตัวไปยังทำเนียบรัฐบาล ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาลจึงได้จัดกำลังพลในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่ผู้ชุมนุม ในขณะที่ตัวเลขผู้ชุมนุมนั้นยังต้องมีการประเมินตัวเลขแบบวันต่อวัน และพร้อมที่จะจัดกำลังพลให้เพียงต่อผู้ชุมชน โดยได้เตรียมแผน "กรกฎ 52" เป็นแผนปฏิบัติการ พร้อมบังคับใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 โดยแผนกรกฎ 52 คือแผนปฏิบัติการหลัก แนวทางแก้ไขสถานการณ์วิกฤต ใช้ในการรับมือการชุมนุม การก่อความไม่สงบ ตร.ได้ทำขึ้นในช่วงที่มีการชุมนุมของเสื้อสีต่าง ๆ มี 4 ขั้นตอนหลัก
ขั้นตอนที่ 1 ขั้นเตรียมการก่อนเกิดเหตุ
เช็คการข่าว หน่วยที่เกี่ยวข้องดำเนินการด้านการข่าว ประสานงานกับหน่วยงานข่าวต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง
- ตั้งหน่วย หรือชุดเฉพาะกิจเพื่อสนับสนุนตามแผน
- เตรียมกำลังหน่วยต่าง ๆ ทั้งหน่วยปฏิบัติ หน่วยสนับสนุน
- ซักซ้อมการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ฝึกอบรมกำลังพล
- จัดหาอุปกรณ์ เตรียมการด้านส่งกำลังบำรุง
- เตรียมความพร้อมการเคลื่อนย้ายหน่วยกำลังพลเข้าปฏิบัติภารกิจและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้น
- เตรียมสถานที่ควบคุม สถานที่สอบสวน กรณีมีการจับกุมและควบคุมผู้ก่อความไม่สงบจำนวนมาก
- ดำเนินการด้านชุมชนและมวลชนสัมพันธ์ทุกรูปแบบให้เป็นธรรม และเตรียมปฏิบัติการด้านประชาสัมพันธ์และจิตวิทยาต่อประชาชน หรือปฏิบัติการด้านข่าวสาร หรือไอโอ
- จัดทำแผนปฏิบัติการเฉพาะกรณีเฉพาะพื้นที่ในการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบทุกรูปแบบ
- เตรียมตั้งศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า (ศปก.สน.) ในพื้นที่ เพื่อควบคุมสั่งการแต่ละพื้นที่ แต่ละขั้นตอนไว้ให้ชัดเจน
- มีสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ (สยศ.ตร.) ติดตามประเมินผลการปฏิบัติอย่างเป็นระบบ เป็นรูปธรรมชัดเจน
ขั้นตอนที่ 2 การเผชิญเหตุซึ่งในกรณีนี้คือการชุมนุม
- ตำรวจท้องที่จัดส่งกำลังเข้าดูแลความสงบเรียบร้อย หรือระงับเหตุ รักษากฎหมาย
- จัดระเบียบบริเวณที่เกิดเหตุและบริเวณโดยรอบ ด้วยการแยกพื้นที่เกิดเหตุออกจากพื้นที่ทั่วไป
- กันประชาชน (ที่ไม่เกี่ยวข้อง) ให้อยู่ห่าง ไม่ให้เข้าพื้นที่เกิดเหตุ เพื่อความปลอดภัยและสะดวกต่อการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่
- รักษาความปลอดภัยสถานที่และบุคคลสำคัญ โดยเฉพาะเป้าหมายที่อยู่ใกล้สถานที่เกิดเหตุ
- จัดการจราจรบริเวณที่เกิดเหตุ และพื้นที่ต่อเนื่อง เพื่อให้กระทบต่อสาธารณชนน้อยที่สุด
- ใช้ศูนย์ปฏิบัติการ (ศปก.) ของกองบังคับการและกองบัญชาการ ในการติดตามควบคุมสั่งการ
- รักษาความสงบและแก้ไขปัญหาตามขั้นตอน
- ใช้การเจรจาต่อรองหรือปฏิบัติการ โดยใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก
- เร่งสืบสวนข้อเท็จจริงรวบรวมพยานหลักฐาน เช่น ภาพถ่าย ชื่อสกุล ข้อมูลแกนนำ ผู้ปฏิบัติการต่าง ๆ
- รวมทั้งจัดเก็บภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวในเหตุการณ์ เพื่อใช้ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและการดำเนินคดีอาญา
- ประชาสัมพันธ์ให้ทราบข้อเท็จจริงของสถานการณ์และการกระทำว่าผิดตามกฎหมายใด มีอัตราโทษอย่างไร
- กรณีที่ยังไม่สามารถดำเนินการตามกฎหมายได้ทันทีหรือเป็นการละเมิด เป็นการสร้างความเดือดร้อนแก่สาธารณชน สังคม ให้ใช้มาตรการตามกฎหมายโดยร้องขอต่อศาล ให้ผู้ก่อความไม่สงบหรือผู้มารวมตัว ยุติการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิทำความเดือดร้อนให้ผู้อื่น
ขั้นตอนที่ 3 เมื่อสถานการณ์วิกฤตและจำเป็นต้องใช้กำลังเข้าคลี่คลายสถานการณ์
- เมื่อการเจรจาต่อรองหรือปฏิบัติการอื่นใดไม่เป็นผล สถานการณ์ทวีความรุนแรงขึ้นจนถึงขั้นจะเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และของทางราชการ ให้ผู้บัญชาการเหตุการณ์พิจารณาสั่งใช้กำลังเข้าแก้ไขสถานการณ์ และรายงานให้ ตร.ทราบ ผ่าน ศปก.ตร.ทันที
- กรณีความไม่สงบจากการชุมนุมเรียกร้อง เมื่อเกิดการละเมิดกฎหมายและอาจนำไปสู่ความรุนแรงนอกเขตกรุงเทพมหานคร ให้ผู้บัญชาการเหตุการณ์ประสานปรึกษากับผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ได้รับมอบหมายก่อนสั่งใช้กำลังเพื่อเข้ายับยั้งหรือคลี่คลายสถานการณ์
- กรณีการชุมนุมเรียกร้องหากมีการกระทำผิดกฎหมายชัดเจน และผลการกระทำอาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง หรือผู้กระทำผิดอาจหลบหนีไปก่อน ให้ผู้บัญชาการเหตุการณ์พิจารณาดำเนินการตามความจำเป็นเร่งด่วน แล้วรายงานผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้บังคับบัญชาทราบ
- กรณีต้องยับยั้งวิกฤต ควบคุมสถานการณ์ชุมนุม ดำเนินการตาม "กฎการใช้กำลัง"
การใช้กำลังเข้าแก้ไขสถานการณ์ให้เป็นไปตามสมควรแก่เหตุ ดำเนินการ ตามลำดับ ดังนี้
1.การแสดงกำลังของตำรวจ
2.การใช้คำสั่งเตือน
3.การใช้มือเปล่าจับกุม
4.การใช้มือเปล่าจับล็อกบังคับ
5.การใช้เครื่องพันธนาการ ปืนยิงตาข่าย
6.การใช้คลื่นเสียง
7.การใช้น้ำฉีด
8.อุปกรณ์เคมี เช่น แก๊สน้ำตา สเปรย์พริกไทย
9.กระบองหรืออุปกรณ์ที่ใช้ตี
10.อาวุธที่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น กระสุนยาง และอุปกรณ์ชอร์ตไฟฟ้า
หากยังไม่สามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้ ให้เสนอ ตร. ผ่าน ศปก.ตร.เพื่อเสนอรัฐบาลใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และมอบหมายให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายดังกล่าวเข้ารับผิดชอบ หรือพิจารณาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเฉพาะพื้นที่ เพื่อเพิ่มอำนาจในการปฏิบัติตามกฎหมายให้แก่เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ หรือประกาศกฎอัยการศึกเพื่อปราบปรามขั้นเด็ดขาด ซึ่งการปฏิบัติการขั้นนี้ฝ่ายทหารจะเป็นผู้รับผิดชอบสั่งการ
ขั้นตอนที่ 4 การฟื้นฟู
เมื่อสถานการณ์คลี่คลายสู่สภาวะปกติ ให้ดำเนินการสอบสวน ดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด จัดหน่วยทำหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของผู้ปฏิบัติงาน สนับสนุนส่วนราชการที่มีหน้าที่ฟื้นฟู บูรณะทรัพย์สินของทางราชการ เมื่อได้รับการร้องขอ
ที่มา matichon